พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า สงไสยว่า หนังสือเรื่องนี้จะเปนหนังสือที่แต่งขึ้นในเมืองไทย มิใช่คำของขุนหลวงหาวัด (คือ พระเจ้าอุทุมพรราชาที่ได้รับรัชทายาทครองกรุงศรีอยุทธยาต่อแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ) ไปให้การแก่พม่า เหตุที่ทำให้สงไสยนั้น
ข้อ๑คือ เรื่องราวทั้งพงษาวดารแลทำเนียบต่าง ๆ ที่เล่าในหนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดฉบับที่หมอสมิธพิมพ์ เมื่อมาสอบสวนดูในชั้นนี้ รู้ได้เปนแน่ว่า ผิดความจริงในที่สำคัญหลายแห่งมาก ถ้าเปนคำให้การขุนหลวงหาวัด พระองค์ย่อมทรงทราบราชการบ้านเมือง จะเล่าผิดอย่างนั้นไม่ได้
ข้อ๒ลักษณถามคำให้การชาวต่างประเทศถึงการบ้านเมืองนั้น ๆ เปนประเพณีที่มีมาแต่ก่อนเหมือนกันทุกประเทศ คือ ถ้าได้ชนต่างชาติมาไว้ในอำนาจก็ดี ฤๅแม้ชนชาติเดียวกันเองได้ไปเมืองต่างประเทศใดมาก็ดี ถ้าเห็นว่า ได้รู้เห็นการงานบ้านเมืองนั้น ๆ ก็เรียกตัวมาให้ข้าราชการซึ่งเปนเจ้าน่าที่หลาย ๆ คนพร้อมกันเปนทำนองกรรมการซักไซ้ไต่ถาม แลจดคำให้การไว้เปนความรู้ในราชการ ในเมืองไทยเราก็เคยถามคำให้การอย่างนี้ เช่น ถามแม่ทัพนายกองพม่าที่เราจับตัวมาได้ เปนต้น เรื่องพงษาวดารพม่าที่ปรากฎอยู่ในหนังสือพระราชพงษาวดาร โดยมากเรารู้ได้ด้วยกระบวนถามคำให้การอย่างว่านี้ ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า กรุงธนบุรี ตลอดมาจนกรุงรัตนโกสินทร เมื่อพม่าได้ไทยไป พระเจ้าอังวะก็คงจะตั้งข้าราชการ