หน้า:คหก ขุนหลวงฯ - ๒๔๕๙.pdf/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
(๕)

หมอสมิธพิมพ์ ก็ปรากฎแน่นอนว่า ฉบับพิมพ์นั้นมีผู้ใดแทรกแซงข้อความลง ตรงตามที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรับสัง ในชั้นแรก จึงรู้ความได้เพียงว่า หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นมีฉบับเดิมจริง แลฉบับเดิมแปลมาจากภาษารามัญ

ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓ กรรมการหอพระสมุดฯ ได้ทราบความว่า มีหนังสือพงษาวดารไทยภาษาพม่าอยู่ในหอสมุดของรัฐบาลที่เมืองร่างกุ้งฉบับ ๑ ได้ขอคัดมาแปลออกเปนภาษาไทย ได้ความว่า หนังสือเรื่องนั้นเปนเรื่องเดียวกับคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นเอง ได้ความมาจากเมืองพม่าว่า เมื่อเสียกรุงเก่า พระเจ้าอังวะจับพระเจ้าอุทุมพรแลข้าราชการไทยไปได้ ให้ถามคำให้การถึงพงษาวดารแลขนบธรรมเนียมเมืองไทยจดเก็บรักษาไว้ในหอหลวง อังกฤษได้ต้นฉบับมาเมื่อตีเมืองมันดะเล หนังสือคำให้การขุนหลวงหาวัด ฉบับแปลจากภาษาพม่า พระยาโชดึกราชเศรษฐี (มิ้น เลาหเศรษฐี) ได้พิมพ์แจกในงานศพท่านอิ่มผู้มารดาแล้ว เปนอันได้ความอิกชั้น ๑ ว่า เรื่องคำให้การขุนหลวงหาวัดนั้นมีมูลเปนความจริง แลรู้ได้ว่า เหตุใดฉบับเดิมเรื่องราวจึงคลาศเคลื่อน เพราะพวกไทยที่พม่าได้ตัวไปให้การได้ไปแต่ตัว ให้การเพียงเท่าที่จำได้ ทั้งเรื่องพระราชพงษาวดารแลขนบธรรมเนียมต่าง ๆ ให้การหลายคนด้วยกัน รู้มากบ้างน้อยบ้าง ซ้ำขุนนางพม่าซึ่งไม่รู้อะไรเลยเอาไปรวบรวมเข้าเรื่องอิกชั้น ๑ กรรมการจึงได้ให้เรียกชื่อหนังสือฉบับที่พระยาโชดึกฯ พิมพ์ว่า “คำให้การชาวกรุงเก่า”