ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๒-๑๔.pdf/12

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


ตราครุฑ
ตราครุฑ
– ๑๒ –

ด้วยเช็คเป็นเงินจำนวน ๖,๗๕๐,๐๐๐ บาท (เอกสารหมาย ถ ๒๗) และชำระราคาหุ้นให้นางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ด้วยเช็คอีกฉบับหนึ่ง

ต่อมา พยานได้คุยกับนายทวี จรุงสถิตพงศ์ หลานชายของพยาน ซึ่งเป็นบุตรของพี่ชายที่ถึงแก่กรรมไปนานแล้ว ซึ่งพยานได้ช่วยเหลือเกื้อกูลมาโดยตลอด ว่า ไม่มีผู้ดำเนินงานบริหารบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เนื่องจากนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ต้องดูแลบุตรที่ยังเป็นเด็กเล็กหลายคน จึงไม่มีเวลาบริหารงาน หากจะต้องเลิกบริษัทก็เสียดาย เพราะพยานไม่เคยทำธุรกิจขาดทุนจนต้องเลิกบริษัท ต่อมา พยานได้ปรึกษาและตกลงให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ไปศึกษาการฟื้นฟูบริษัท โดยให้นายปิติ จรุงสถิตพงศ์ ซึ่งเป็นพี่ชายของนายทวี จรุงสถิตพงศ์ มาดำเนินการร่วมกันด้วย เนื่องจากขณะนั้น ได้เลิกจ้างพนักงานของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไปหมดแล้ว พยานจึงโอนหุ้นที่รับโอนมาจากผู้ถูกร้องและนางรวิพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้แก่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ โดยไม่มีค่าตอบแทน เพื่อให้ทำการฟื้นฟูบริษัทที่อยู่ในภาวะขาดทุนอันมีผลมาจากความนิยมในสื่อสิ่งพิมพ์ที่เป็นกระดาษลดน้อยลง หลังจากนั้นอีกสองเดือนต่อมา นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ซึ่งจบการศึกษาด้านนิเทศศาสตร์ ได้เสนอผลการศึกษาแนวทางการฟื้นฟูบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ว่า ถ้าจะดำเนินการต่อไป อาจต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกหลายล้านบาท พยานจึงตัดสินใจไม่ทำ และให้หลานชายทั้งสองโอนหุ้นคืนให้พยาน จากนั้น พยานได้จดทะเบียนเลิกบริษัทไป

๕.นางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม เบิกความว่า พยานเป็นพนักงานบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปดูแลสายงานบัญชี ได้ลงนามเป็นพยานในตราสารโอนหุ้นแต่ละครั้ง พยานติดต่อประสานงานกับนายพุฒิพงศ์ พงศ์อเนกกุล ซึ่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ พยานมีความเข้าใจเกี่ยวกับการแจ้งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (แบบ บอจ. ๕) ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะพยานมีหน้าที่ดูแลเรื่องดังกล่าวของบริษัท ไทยซัมมิท โอโตพาร์ท อินดัสตรี จำกัด ส่วนกรณีของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด นางสมพร