หน้า:คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๒-๑๔.pdf/16

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


ตราครุฑ
ตราครุฑ
– ๑๖ –

โอนหุ้นแล้ว ทั้งสองคนก็ได้เดินทางกลับ หลังจากนั้น พยานได้มีการทำตราสารโอนหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นอีกสามคน

ผู้ร้องยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี มีสาระสำคัญเพิ่มเติมจากคำร้องสรุปไดว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นผู้ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ ตามวัตถุที่ประสงค์ของบริษัทข้อ ๒๓ ข้อ ๒๔ และข้อ ๑๕ แบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บ.ช. ๓) ของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ระบุว่า มีรายได้จากการขายนิตยสารและการให้บริการโฆษณา และยังไม่มีการจดทะเบียนเลิกบริษัทและจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี คำเบิกความของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ต่อศาลว่า มีการชำระค่าหุ้นด้วยเช็คให้แก่ผู้ถูกร้องซึ่งเป็นบุตร แต่การโอนหุ้นให้แก่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ และนายปิติ จรุงสถิตพงศ์ ซึ่งเป็นหลานชาย กลับไม่มีการชำระราคาหุ้น นอกจากนี้ นางสาวลาวัลย์ จันทร์เกษม ผู้จัดการทั่วไปดูแลสายงานบัญชี ยังได้เบิกความต่อศาลว่า ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ มีการโอนหุ้นหลายบริษัท แต่บางบริษัทยังไม่มีการชำระราคาหุ้นในวันนั้น โดยชำระภายหลังจากนั้นเป็นเวลาหลายเดือน ซึ่งแตกต่างจากกรณีของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด นอกจากนี้ ยังมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คล่าช้าอีกด้วย จึงไม่น่าเชื่อว่า นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้ชำระราคาหุ้นให้แก่ผู้ถูกร้องจริง

ผู้ถูกร้องยื่นคำแถลงการณ์ปิดคดี มีสาระสำคัญเพิ่มเติมจากคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาสรุปได้ว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ เนื่องจากไม่ต้องการให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแทรกแซง ครอบงำ หรือบงการสื่อมวลชนได้ เพราะจะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในทางการเมือง และขัดต่อหลักเสรีภาพของสื่อมวลชน ดังนั้น การที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตผลงานตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง มิใช่ผู้เผยแพร่ผลงานสู่สาธารณะให้เป็นที่รับรู้ทั่วไปของประชาชน จึงมิใช่กิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดตามเจตนารมณ์หรือความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้หมายถึงสื่อมวลชนในทำนองเดียวกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๓ สถานีโทรทัศน์ช่อง ๗ สถานีโทรทัศน์ช่อง MCOT สถานีโทรทัศน์ช่องเนชั่น เป็นต้น

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้อง คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และเอกสารประกอบ รวมทั้งการไต่สวนพยาน และคำแถลงการณ์ปิดคดีของคู่กรณีแล้ว คดีมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้