หน้า:คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๒-๑๔.pdf/24

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


ตราครุฑ
ตราครุฑ
– ๒๔ –

สำหรับการโอนหุ้นที่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้โอนหุ้นของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๒ หมายเลขหุ้น ๑๓๕๐๐๐๑ ถึงหมายเลขหุ้น ๒๐๒๕๐๐๐ จำนวน ๖๗๕,๐๐๐ หุ้น ซึ่งเป็นหุ้นหมายเลขเดิมของผู้ถูกร้อง ให้แก่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ หลานชายของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (เอกสารหมาย ถ ๓๓/๒) และต่อมาในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ได้โอนหุ้นหมายเลขดังกล่าวกลับคืนไปยังนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ (เอกสารหมาย ถ ๔๐/๒) นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนปรากฏว่า การโอนหุ้นให้และการโอนหุ้นคืนดังกล่าวไม่มีค่าตอบแทนโดยอ้างความสัมพันธ์ในทางเครือญาติ ซึ่งย้อนแย้งและแตกต่างจากการโอนหุ้นระหว่างนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ กับผู้ถูกร้อง ซึ่งมีความสัมพันธ์เป็นมารดากับบุตร กลับมีค่าตอบแทน แม้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ จะเบิกความว่า ต้องการให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ มาแก้ปัญหาหรือฟื้นฟูบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ก็ตาม แต่การโอนหุ้นให้แก่กันโดยไม่มีค่าตอบแทนย่อมทำให้ไม่สามารถที่จะตรวจสอบได้ว่า ได้มีการโอนหุ้นกันจริงหรือไม่ คงมีเพียงพยานเอกสารที่ใช้อ้าง คือ ตราสารโอนหุ้น และสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้น และใบหุ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นเอกสารที่บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด สามารถจัดทำขึ้นเองได้ในภายหลัง ประกอบกับการที่นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ได้โอนหุ้นดังกล่าว ได้โอนหุ้นดังกล่าวกลับคืนให้นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากได้รับโอนหุ้นไปเพียงสองเดือนกว่า โดยนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ เบิกความว่า นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ได้ทำการศึกษาแล้ว ต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีกหลายล้านบาท ตนจึงมีความประสงค์จะปิดบริษัท และให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ โอนหุ้นกลับคืนไปยังนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ย่อมขัดกับปกติวิสัยของนักลงทุนทั่วไปที่มีความประสงค์จะฟื้นฟูบริษัทที่ต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาพอสมควร และต้องลงมือทำงานตามแผนธุรกิจที่ศึกษาเสียก่อน อีกทั้งการโอนหุ้นที่มีมูลค่าสูงให้นายทวี จรุงสถิตพงศ์ ซึ่งเป็นหลานชายของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ โดยนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวอ้างว่า ต้องการอุปถัมภ์หลานชาย ก็ขัดแย้งกับการที่ให้หลานชายโอนหุ้นกลับคืนมาภายในระยะเวลาสองเดือนเศษโดยไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์ใดเป็นการตอบแทน ประกอบกับเมื่อพิจารณาจำนวนเงินที่ต้องลงทุนเพิ่มหากเทียบกับฐานะทางเศรษฐกิจของนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ แล้ว ถือว่า เป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย ซึ่งขัดแย้งกับที่ผู้ถูกร้องกล่าวอ้างว่า บริษัทมียอดหนี้ของลูกหนี้และสิทธิเรียกร้องประมาณ ๑๑ ล้านบาท แต่ตามแบบนำส่งงบการเงิน (แบบ ส.บช. ๓) รอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๑ ที่นำส่งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร แจ้งว่า มีลูกหนี้การค้า