หน้า:คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๒-๑๔ (ส่วนตน).pdf/12

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


– ๕ –

เจ้าของกิจการสื่อมวลชน ผู้ถูกร้องกลับจัดทำเอกสารการโอนหุ้นย้อนหลังเพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติ จึงทำให้เกิดพิรุธหลายประการ

(๒) ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารของบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่นำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท (แบบ บอจ. ๕) ต่อนายทะเบียน มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นทุกครั้งตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด จะจัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครโดยเร็วทุกครั้ง เพิ่งจะมีการโอนหุ้นเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ตามที่ผู้ถูกร้องอ้างเท่านั้น ที่ไม่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและไม่มีการส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยที่เคยปฏิบัติมา ทั้ง ๆ ที่การโอนหุ้นครั้งนี้มีความสำคัญต่อการเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างยิ่ง เพราะถ้ามิได้โอนไปก่อนวันที่ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้ง ย่อมจะทำให้ผู้ถูกร้องมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) ส่วนที่ผู้ถูกร้องและพยานเบิกความว่า เหตุที่ไม่ได้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น เนื่องจากเป็นการโอนหุ้นในระหว่างคนในครอบครัว จึงไม่จำเป็นต้องประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นนั้น ก็ไม่เป็นความจริง เพราะการโอนหุ้นจากนางสมพรฯ ให้กับผู้ถูกร้องเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๘ ก็มีการจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและมีหนังสือนำส่งบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นตามเอกสารหมาย ร ๑๙ ข้ออ้างของผู้ถูกร้องขัดกับเอกสารของตนเอง ส่วนข้ออ้างที่ว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไม่มีพนักงานที่จะดำเนินการแจ้งการโอนหุ้นให้นายทะเบียนทราบนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวลาวัลย์ฯ ซึ่งเป็นพนักงานของกลุ่มบริษัทของครอบครัวผู้ถูกร้องว่า เป็นผู้มีหน้าที่จัดทำเอกสารแบบ บอจ. ๕ และเอกสารการแจ้งการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท และหากนางสมพรฯ สั่งให้ทำ ก็สามารถทำได้ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดทำเอกสารรายงานการประชุม เอกสารการโอนหุ้น และเอกสารแจ้งการโอนหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเมื่อวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๒ นอกจากนี้ ยังปรากฏว่า ได้มีการลงรายการโอนหุ้นวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริง ผู้ถูกร้องย่อมสามารถจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นและแจ้งนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทได้ในเวลารวดเร็วดังที่เคยปฏิบัติมา ข้ออ้างของผู้ถูกร้องจึงฟังไม่ขึ้น

(๓) ข้อเท็จจริงยังปรากฏอีกว่า เมื่อสื่อมวลชนตั้งข้อสังเกตว่า หากผู้ถูกร้องและคู่สมรสโอนหุ้นให้กับนางสมพรฯ มารดา ตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ แล้ว เหตุใดเอกสารการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๖๒ จึงระบุว่า มีผู้ถือหุ้นเข้าประชุม ๑๐ คน เท่ากับจำนวนผู้ถือหุ้นที่ผู้ถูกร้องและคู่สมรสจะโอนหุ้นให้กับนางสมพรฯ หลังจากนั้น ผู้ถูกร้องจึงได้ชี้แจงว่า หลังจากผู้ถูกร้องและคู่สมรสโอนหุ้นในนางสมพรฯ แล้ว นางสมพรฯ ได้โอนหุ้นให้กับนายทวี จรุงสถิตพงศ์