หน้า:คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๒-๑๔ (ส่วนตน).pdf/14

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


– ๗ –

ประกอบกับข้อเท็จจริงที่มีการเก็บเช็คดังกล่าวไว้โดยไม่นำไปขึ้นเงินกับธนาคารเป็นเวลานานผิดปกติต่างจากที่เคยปฏิบัติมา จนเมื่อถูกสื่อมวลชนตั้งประเด็นถาม จึงได้ชี้แจงแสดงเหตุผลว่า ที่ยังไม่นำเช็คไปขึ้นเงินเป็นเพราะเหตุผลใด จึงยังไม่อาจหักล้างข้อพิรุธในจุดนี้ได้ และจึงไม่มีน้ำหนักที่จะทำให้เชื่อว่า มีการสั่งจ่ายเช็คค่าหุ้นเมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริง

(๕) สำหรับข้ออ้างของผู้ถูกร้องที่อ้างว่า ในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ ผู้ถูกร้องหาเสียงที่จังหวัดบุรีรัมย์ในช่วงเช้า จึงกลับมาบ้านที่กรุงเทพมหานครทันเวลาทำสัญญาโอนหุ้นนั้น เห็นว่า คดีนี้มีประเด็นพิจารณาว่า ผู้ถูกร้องได้โอนหุ้นให้นางสมพรฯ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริงหรือไม่ แม้จะฟังว่า ผู้ถูกร้องกลับจากจังหวัดบุรีรัมย์มาบ้านที่กรุงเทพมหานครในวันดังกล่าวจริง ข้อเท็จจริงดังกล่าวก็รับฟังได้เพียงว่า ผู้ถูกร้องอยู่ที่กรุงเทพมหานครในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า มีการโอนหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ในวันดังกล่าวจริง การพิจารณาว่า มีการโอนหุ้นในวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริงหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานอื่น ๆ และพฤติการณ์ทั้งปวงแห่งคดี

คดีนี้ แม้ไม่มีพยานหลักฐานโดยตรงที่ชัดเจนว่า ผู้ถูกร้องโอนหุ้นในนางสมพรฯ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๖๒ จริงหรือไม่ และแม้ผู้ถูกร้องจะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๑๒๙ วรรคสาม และมาตรา ๑๑๔๑ ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากข้อพิรุธหลายจุดหลายประการ ประกอบกับพยานหลักฐาน พฤติเหตุแวดล้อมกรณี ที่สอดรับกันอย่างแน่นหนาแล้ว ย่อมมีความน่าเชื่อมากกว่าพยานเอกสารและคำเบิกความของพยานผู้ถูกร้อง ข้อเท็จจริงที่ได้จากพฤติการณ์แวดล้อมที่เป็นพิรุธน่าสงสัยหลายประการประกอบกันมีน้ำหนักหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายและพยานหลักฐานของผู้ถูกร้องได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงเห็นว่า ผู้ถูกร้องเป็นผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชนในวันที่ผู้ถูกร้องสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นผู้มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๙๘ (๓) เป็นผลให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๑๐๑ (๖) ประกอบมาตรา ๙๘ (๓) โดยต้องพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ คือ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๒ และถือว่า ตำแหน่งว่างลงนับแต่วันที่ศาลมีคำวินิจฉัย

  • จรัญ ภักดีธนากุล
  • (นายจรัญ ภักดีธนากุล)
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ