หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๓-๓๐ (กลาง).pdf/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


ตราครุฑ
ตราครุฑ
– ๗ –

ในคดีนี้เป็นบุคคลที่ต้องมารายงานตัว แต่ไม่มารายงานตัวภายในวันเวลาที่กำหนด ต้องรับโทษทางอาญา และต่อมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๑/๒๕๕๗ เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ข้อ ๑ ที่กำหนดให้บุคคลใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกตัวบุคคลให้มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติต้องรับโทษทางอาญา ซึ่งปรากฏชื่อจำเลยในคดีนี้เป็นบุคคลที่ต้องมารายงานตัวตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๕๗/๒๕๕๗ เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ลงวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๕๗ โดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติทั้งสองฉบับกำหนดให้การไม่มารายงานตัวต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน ๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้การปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติเกี่ยวกับการเรียกบุคคลให้มารายงานตัวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นไปอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เห็นได้จากคำปรารภของประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๔๑/๒๕๕๗ เรื่อง กำหนดให้การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเรียกบุคคลให้มารายงานตัวเป็นความผิด ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗ จึงต้องกำหนดโทษทางอาญาแก่บุคคลที่ฝ่าฝืน อันเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล เพื่อให้เกิดความมั่นคงของรัฐและความสงบสุขของบ้านเมือง ซึ่งเป็นกรณีจำเป็นในขณะที่บ้านเมืองอยู่ในช่วงรัฐประหาร

อย่างไรก็ดี เมื่อยามที่บ้านเมืองปกติสุข การใช้ชีวิตของปัจเจกบุคคลย่อมแตกต่างไปจากสถานการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ รัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลไว้ตามมาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง โดยบุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายซึ่งใช้อยู่ในเวลานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ซึ่งเป็นหลักการสากลที่บัญญัติรับรองไว้เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ และบัญญัติในลักษณะทำนองเดียวกันในรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ทั้งนี้ การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองคุ้มครองไว้ ต้องเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๖ โดยการตรากฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลนั้น ฝ่ายนิติบัญญัติหรือองค์กรที่ใช้อำนาจรัฐจะต้องคำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญประการหนึ่ง คือ หลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี อันเป็นหลักการ