ส่วนมาตรา ๗๗ นั้นเป็นหลักการที่เพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ โดยบัญญัติไว้ในหมวด ๒ ว่าด้วยแนวนโยบาย แห่งรัฐ ให้รัฐใช้เป็นแนวทางดําเนินการตรากฏหมาย ซึ่งถึงแม้รัฐไม่ดําเนินการหรือไม่อาจดําเนินการได้โดยมีความจําเป็นหรือเหตุผลอันสมควรอย่างใดอย่างหนึ่ง รัฐก็จะไม่ตกเป็นผู้กระทําผิดตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่ใช่บทบังคับให้รัฐต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัดเหมือนกรณีที่รัฐธรรมนูญกําหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐ
สําหรับประมวลกฎหมายอาญา เป็นกฎหมายในลําดับชั้นเดียวกันกับพระราชบัญญัติ เป็นกฎหมายสารบัญญัติที่กําหนดว่า การใดเป็นความผิดและต้องรับโทษทางอาญาตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่การที่รัฐจะบังคับใช้กฎหมายที่มีบทลงโทษทางอาญาไปกระทบต่อสิทธิในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน ของผู้ใดได้นั้น ต้องตั้งอยู่บนหลักการสําคัญประการหนึ่งที่ว่า รัฐจะตรากฎหมายให้มีการลงโทยผู้กระทําผิดด้วยวิธีการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ทรมาน หรือทารุณกรรมไม่ได้[1] ทั้งพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดที่ร้ายแรงเท่านั้น[2]
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๕ เป็นบทบัญญัติในภาค ๒ ลักษณะ ๑๐ หมวด ๓ ความผิดฐานทําให้แห้งลูก ซึ่งนอกจากจะคํานึงถึงชีวิตและร่างกายของหญิงผู้ตั้งครรภ์แล้ว กฎหมายยังให้ความคุ้มครองไปถึงชีวิตทารกในครรภ์ของหญิงผู้เป็นมารดาด้วย เห็นได้ว่า กฎหมายให้ความสําคัญและตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตใหม่ที่เริ่มปฏิสนธิแล้วและกําลังจะมีสภาพบุคคลในทางกฎหมายเมื่อคลอดและอยู่รอดเป็นทารก ซึ่งกฎหมายยังให้การรับรองสิทธิของทารกภายหลังมีสภาพบุคคลแล้วว่า จะต้องมีผู้ดูแล โดยให้ถือว่า ทารกนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาเสมอ สะท้อนให้เห็นได้ว่า กฎหมายมุ่งหมายให้อํานาจและหน้าที่แก่หญิงที่พึงมีต่อทารกในครรภ์เป็นสําคัญ หญิงผู้ตั้งครรภ์จึงไม่อาจปฏิเสธหน้าที่ของความเป็นแม่ที่จะต้องให้ความคุ้มครองชีวิตใหม่ของทารกในครรภ์ของตนได้
ประเด็นที่๑ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ หรือไม่
มาตรา ๓๐๑ เป็นบทบัญญัติแรกในหมวดความผิดฐานทําให้แห้งลูก บัญญัติว่า หญิงใดทําให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทําให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เห็นว่า นอกจากกฎหมายมุ่งหมายลงโทษผู้ที่ล่วงละเมิดชีวิตและร่างกาย
- ↑ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๘ วรรคสี่ บัญญัติว่า "การทรมาน ทารุณกรรม หรือการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้าย หรือไร้มนุษยธรรม จะกระทํามิได้"
- ↑ รัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ วรรคสาม บัญญัติว่า "รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมาย เฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง"