หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๓-๔.pdf/21

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๓ –

ของหญิงผู้ตั้งครรภ์โดยตรงแล้ว กฎหมายยังให้การรับรองและคุ้มครองไปถึงชีวิตของทารกในครรภ์ของหญิงที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ของชายหญิงเพื่อไม่ให้ผู้ใดมาละเมิด แม้ว่าจะเป็นหญิงผู้ตั้งครรภ์เองก็ไม่มีสิทธิที่จะไปละเมิดต่อความมีชีวิตและโอกาสที่จะมีฐานะเป็นบุคคลในเวลาอันใกล้ของทารกในครรภ์ได้ บทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายเจาะจงตัวผู้กระทําความผิดไปที่ "หญิงใด" เป็นสําคัญ เนื่องจากโดยสภาพ ของการคุ้มครองชีวิตของทารกในครรภ์ของหญิงใด ย่อมต้องให้หญิงนั้นเป็นผู้ทําหน้าที่ จึงจะเกิดผลสัมฤทธิ์ได้ดีที่สุด บุคคลอื่นหาอยู่ในสถานะที่จะทําหน้าที่นี้ได้ กฎหมายจึงไม่ใช้คําว่า ผู้ใด เหมือนบทมาตราอื่นที่ไม่ได้เจาะจงตัวผู้กระทําความผิดลงไปเพื่อให้มุ่งหมายถึงบุคคลใดก็ได้ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล เพราะ หญิงใด นั้น หมายถึง หญิงที่อุ้มท้องประคองชีวิตของทารกในครรภ์ของหญิงนั้นแต่ผู้เดียว การยินยอมหรือปล่อยให้ชีวิตของทารกในครรภ์ของตนถูกทําร้ายโดยตนเองหรือผู้อื่น ย่อมแสดงให้เห็นได้ถึงเจตนาที่ประกอบอยู่กับจิตใจในขณะนั้นว่า ประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลว่า ชีวิตของทารกในครรภ์จะถูกละเมิด การที่กฎหมายระบุไปที่หญิงผู้ตั้งครรภ์ จึงไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ ทั้งยังไม่เป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของบุคคล โดยปราศจากเหตุผลและความจําเป็นแต่ประการใด จึงเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘

ประเด็นที่  ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมบนูญ มาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ และมาตรา ๗๗ หรือไม่

มาตรา ๓๐๕ บัญญัติว่า "ถ้าการกระทําความผิดดังกล่าวในมาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๒ นั้น เป็นการกระทําของนายแพทย์ และ (๑) จําเป็นต้องกระทําเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ (๒) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๘๒ มาตรา ๒๘๓ หรือมาตรา ๒๘๔ ผู้กระทําไม่มีความผิด" เป็นบทบัญญัติที่เป็นเหตุยกเว้นความผิดให้แก่หญิงผู้ตั้งครรภ์และแพทย์ที่ได้กระทําความผิดไปตามมาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๒ เพราะมีเหตุจําเป็นเนื่องจากสุขภาพของหญิง หรือเพราะหญิงนั้นมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดอาญาตามบทมาตราที่ระบุไว้ โดยเมื่อพิจารณาความรับผิดของบุคคลจากโครงสร้างความผิดทางอาญาที่ แม้จะครบองค์ประกอบความผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไปแล้ว ก็ยังไม่สามารถลงโทษทางอาญาได้ทันที จะต้องพิจารณาต่อไปว่า มีกฎหมายบัญญัติ จารีตประเพณี หรือความยินยอมของผู้เสียหาย มาเป็นเหตุยกเว้นความผิดให้หรือไม่ ซึ่งตามมาตรา ๓๐๕ บัญญัติไว้เป็นเหตุยกเว้นความผิด กล่าวคือ หากว่าผู้กระทําเป็นแพทย์ที่จะกระทําการอันเป็นความผิดตามมาตรา ๓๐๒ และการกระทําผิดของหญิงผู้ตั้งครรภ์ตามมาตรา ๓๐๑ ทั้งนี้ จะต้องมีข้อเท็จจริงประกอบด้วยว่า มีความจําเป็นเนื่องจากสุขภาพ