หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๓-๔.pdf/27

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๔ –

เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ บัญญัติให้การกระทําความผิดตามมาตรา ๓๐๑ หากเป็นการกระทําของนายแพทย์ และจําเป็นต้องกระทําเนื่องจากสุขภาพของหญิง หรือหญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดอาญาที่เกี่ยวกับเพศ ผู้กระทําไม่มีความผิด เป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่รัฐกําหนดให้ยกเว้นความผิดของผู้กระทําการให้หญิงแท้งลูกตามมาตรา ๓๐๑ โดยมุ่งคุ้มครองหญิงตั้งครรภ์ กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของหญิง และกรณีการตั้งครรภ์เกิดจากการกระทําความผิดอาญา อันเป็นการคํานึงถึงสิทธิในชีวิตและร่างกายของหญิงและสิทธิในการกําหนดเจตจํานงเกี่ยวกับอนามัยเจริญพันธุ์ของตนเอง และเพื่อความปลอดภัยในชีวิตของหญิงซึ่งอาจได้รับอันตรายจากการแท้งลูก รัฐจึงกําหนดให้การทําแท้งอยู่ภายใต้การปฏิบัติของนายแพทย์ อย่างไรก็ดี โดยที่การยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนและจริยธรรมของสังคม การกําหนดกรณียกเว้นให้กระทําได้ต้องมีระบบการควบคุมที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐาน ซึ่งข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๕๕ กําหนดรองรับไว้ว่า การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา ๓๐๕ นั้น หญิงตั้งครรภ์ต้องยินยอม และกระทําได้โดยแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมาย รวมทั้งต้องกระทําในสถานพยาบาล และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ กล่าวคือ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ (๑) เงื่อนไขมีว่า ต้องเป็นกรณีที่จําเป็นต้องกระทําเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงมีครรภ์ หรือเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงมีครรภ์ ซึ่งต้องได้รับการรับรองหรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาซีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทําการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งคน สําหรับการยุติการตั้งครรภ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ (๒) เงื่อนไขมีว่า ต้องมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่า หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดอาญา เมื่อปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์แล้ว แพทย์ผู้นั้นต้องทํารายงานเสนอต่อแพทยสภา หากไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ให้ถือว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้นไม่รักษามาตรฐานในระดับทีดีที่สุด การที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่า การที่กฎหมายกําหนดเงื่อนไขไว้เพียง ๒ กรณี ทั้งที่เป็นสิทธิของหญิงซึ่งตั้งครรภ์ เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมและจํากัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิง จึงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ นั้น เห็นว่า แม้การตั้งครรภ์จะมีขึ้นมาจากความสัมพันธ์ระหว่างหญิงและชาย แต่โดยที่การยุติการตั้งครรภ์เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนต่อจริยธรรมของสังคม และกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ประกอบกับรัฐสามารถดําเนินการด้วยวิธีการคุมกําเนิตที่มีประสิทธิภาพ หากให้มีการนําเหตุที่ไม่เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพซึ่งครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจของหญิงหรือการตั้งครรภ์อันเกิดจากการกระทําความผิดทางอาญามาเป็นเหตุให้มีการยุติการตั้งครรภ์ได้ ก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการใช้บังคับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๑ และมาตรา ๓๐๒ การกําหนดการยกเว้นให้ทําแท้งได้จึงต้องกระทําเท่าที่จําเป็น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของบทบัญญัติมาตรา ๓๐๑ บทบัญญัติมาตรา ๓๐๕ จึงเป็นไปตามหลักความได้สัตส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี และเป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิต