หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๓-๔.pdf/8

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว


ตราครุฑ
ตราครุฑ
– ๘ –

จากการยุติการตั้งครรภ์ รัฐจึงกําหนดให้การยุติการตั้งครรภ์อยู่ภายใต้การปฏิบัติของนายแพทย์ และเพื่อมิให้เกิดปัญหาทางสุขภาพและปัญหาสังคมอันจะกระทบต่อประโยชน์ของสาธารณะในภายหลัง ซึ่งข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา ๓๐๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. ๒๕๕๕ กําหนดเงื่อนไขอันเป็นเหตุยกเว้นให้นายแพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ โตยหญิงตั้งครรภ์ต้องยินยอม และกระทําโดยนายแพทย์ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมาย รวมทั้งต้องกระทําในสถานพยาบาล และต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ กล่าวคือ การยุติการตั้งครรภ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ (๑) จําเป็นต้องกระทําเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายหรือปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งต้องได้รับการรับรองหรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทําการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งคน โดยปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์รวมถึงปัญหาความเครียดอย่างรุนแรงเนื่องจากตรวจพบว่า ทารกในครรภ์มีหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง เมื่อหญิงนั้นได้รับการตรวจวินิจฉัยและการปรึกษาแนะนําทางพันธุศาสตร์ และมีการลงนามรับรองในเรื่องดังกล่าวข้างต้นโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทําการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งคน ซึ่งต้องมีข้อบ่งขี้ทางการแพทย์ที่ขัดเจนว่า หญิงนั้นมีปัญหาสุขภาพทางกายหรือทางจิต และต้องมีการบันทึกการตรวจและวินิจฉัยโรคไว้ในเวชระเบียนเพื่อเป็นหลักฐาน สําหรับการยุติการตั้งครรภ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ (๒) ต้องมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่า หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทําความผิดทางอาญา ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ และข้อบังคับดังกล่าวจึงทําให้การยุติการตั้งครรภ์ของนายแพทย์มีความชัดเจนและครอบคลุมถึงปัญหาด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของหญิงตั้งครรภ์แล้ว จึงเห็นได้ว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๕ เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองทั้งคุณธรรม นทางกฎหมาย และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพในร่างกายของหญิงที่ตั้งครรภ์อย่างเป็นธรรม เป็นไปตามหลักความได้สัดส่วนพอเหมาะพอควรแก่กรณี และมุ่งคุ้มครองประโยชน์ของสังคมและประโยชน์สาธารณะได้อย่างเหมาะสม ไม่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม และไม่เป็นการจํากัดสิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๗ และมาตรา ๒๘ แต่อย่างใด