หน้า:คำวินิจฉัย ศร ๒๕๖๔-๑๙ (กลาง).djvu/3

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้ตรวจสอบแล้ว

เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๘๐ ก

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
หน้า ๒๔
ราชกิจจานุเบกษา

ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ กรณีไปอยู่ต่างประเทศต้องมีการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ให้ทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลับมาเป็นของพี่น้องประชาชนทุกคน

วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๓ เวทีธรรมศาสตร์จะไม่ทน ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จังหวัดปทุมธานี ผู้ถูกร้องที่ ๑ ปราศรัยสรุปได้ว่า ที่เรามาชุมนุมกันในวันนี้ เพื่อจะยืนยันว่า นอกจากข้อเสนอสามข้อที่เราพูดกันอยู่ทุกเวที ความจริงมันมีข้อเสนอระหว่างบรรทัดที่มันเป็นข้อเสนอที่สำคัญที่สุด คือ การแก้ปัญหาการขยายพระราชอำนาจของสถาบันกษัตริย์ และผมขอยืนยันอีกครั้งว่านี่ไม่ใช่ม็อบล้มเจ้า ไม่ใช่ม็อบจาบจ้วง แต่เป็นม็อบที่พูดความจริงเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตั้งโดยอาจารย์ปรีดี วันนี้พวกเราทุกคนรับไม้ต่อมาจากคณะราษฎร รับไม้ต่อมาจากอดีตบรรพบุรุษของเราเพื่อสะสางปัญหาทั้งหมด เราทุกคนคือเลือดเนื้อเชื้อไขคณะราษฎรที่จะมาทำหน้าที่แทนคณะราษฎร ประเด็นสำคัญที่ผมจะพูดวันนี้คือ ข้อเรียกร้องระหว่างบรรทัดของพวกเรา ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หมายถึงกษัตริย์ต้องอยู่เหนือการเมืองและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ พระราชกรณียกิจอันใดที่ทำให้พระมหากษัตริย์มายุ่งเกี่ยวกับการเมืองต่อไปนี้ต้องถูกตั้งคำถามดัง ๆ ต่อสาธารณะ เราอยากเห็นสถาบันพระมหากษัตริย์ปรับตัวเข้าหาประชาชน ไม่ใช่พวกเราปรับตัวเข้าหาสถาบันกษัตริย์ การอยู่ใต้รัฐธรรมนูญเป็นสาระสำคัญของการปกครองที่พวกเรามีอยู่ แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อสถาบันกษัตริย์พยายามจะขยายพระราชอำนาจผ่านทางคณะรัฐประหาร ปี ๒๕๕๗ พระมหากษัตริย์ถ้ายังเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขต้องไม่เซ็นรับรองการรัฐประหาร หากการรัฐประหารเกิดขึ้นสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องยืนอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยเท่านั้น ผู้ถูกร้องที่ ๒ ปราศรัยสรุปได้ว่า วันนี้หัวข้อที่จะมาพูดในเรื่องระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ยังไม่ตาย ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือ การรวมอำนาจขุนนางและข้าราชการไว้ให้กับกษัตริย์ โดยกษัตริย์มีอำนาจเด็ดขาด มีมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ รัชกาลที่ ๖ รัชกาลที่ ๗ แต่เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๗๕ คณะราษฎรนำโดยอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ และพระยาพหลพลพยุหเสนา ได้มีการปฏิวัติประเทศสยาม จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย และให้กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปัจจุบันผมคิดว่าการใช้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังใช้ยาวมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน เพราะกษัตริย์