หน้า:คำวินิจฉัย ศร ๒๕๖๔-๑๙ (กลาง).djvu/7

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๘๐ ก

๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๔
หน้า ๒๘
ราชกิจจานุเบกษา

ต้องเอื้อให้คนที่อยู่ในประเทศทั้งหมด ทำไมไปเอื้อให้คน ๆ เดียว และกลุ่มนายทุนศักดินาลูกขุนนางลูกเจ้า ผู้ถูกร้องที่ ๔ ปราศรัยสรุปได้ว่า การที่ทหารออกมายึดอำนาจเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ ฐานล้มล้างการปกครอง ถ้าทรงไม่ลงพระปรมาภิไธยทหารที่ก่อการนี้ก็ต้องรับโทษ ดังนั้น ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ อำมาตย์ หรือไพร่ ก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเดียวกัน และผู้ถูกร้องที่ ๒ ปราศรัยสรุปได้ว่า เราไม่ได้ต้องการที่จะล้มล้างแต่อย่างใด แต่หากเราต้องการสร้างถนนลาดยางหนึ่งเส้น แต่มีต้นไม้ใหญ่ขวางอยู่ คุณจะโค่นต้นไม้ทิ้ง หรือจะทำเป็นวงเวียนหรือจะย้ายต้นไม้นั้นออก ผมคิดว่าการย้ายต้นไม้ไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมและสร้างถนนที่แข็งแรง เราจะได้ต้นไม้และถนนที่สมบูรณ์เปรียบเสมือนการสร้างประเทศให้เกิดการพัฒนาโดยสถาบันกษัตริย์อยู่ในที่ที่เหมาะสม พวกเรามีเจตนาที่ดีอยากจะอยู่ร่วมกับสถาบันให้สถาบันเป็นร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นร่มพระบารมี ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เราจ่ายภาษีให้ท่าน ฉะนั้น ภาษีเหล่านั้นต้องตรวจสอบได้

ผู้ร้องเห็นว่า การปราศรัยในวันเวลาและสถานที่ต่าง ๆ ของคณะบุคคลดังกล่าวมีเนื้อหาบิดเบือน จาบจ้วง ล้อเลียน หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างรุนแรง เป็นการกระทำที่มีเจตนาล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๓/๒๕๖๒ การกล่าวอ้างของคณะบุคคลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า มิได้เคารพเลื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการใช้สิทธิและเสรีภาพพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตยต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๕ และมาตรา ๓๔ การอ้างเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลโดยละเลยข้อจำกัดของการใช้เสรีภาพตามกติกาสากล และการสนับสนุนให้ใช้เสรีภาพโดยไม่เคารพข้อจำกัด จึงเป็นอันตรายร้ายแรง เพราะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้เสรีภาพในทางที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งเมื่อพิจารณาประกาศหรือข้อเสนอต่าง ๆ พบว่าข้อเสนอหลายเรื่องขัดหรือแย้งกับหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญเรื่อง การคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์และพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่มีอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ สอดคล้องตามหลักสากลของประเทศที่ปกครองโดยพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยปรากฏรับรองไว้อย่างมั่นคงต่อเนื่อง นับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบัน ไม่สามารถกระทำการแก้ไขได้เพราะจะขัดต่อหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจตีความได้ว่า