หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ส่วนตน).pdf/20

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๒ –

ความเป็นบิดา มารดาและบุตรที่เกิดจากการร่วมประเวณีของชายและหญิง โดยคู่รักเพศเดียวกันไม่มีสิทธิที่จะได้รับการรับรองและคุ้มครองการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันแต่อย่างใด

สำหรับการรับรองและคุ้มครองการแต่งงานเพศเดียวกันในการใช้ชีวิตคู่ร่วมกันที่ชอบด้วยกฎหมายมี ๒ รูปแบบ กล่าวคือ รูปแบบแรก โดยคำพิพากษาของศาล เช่น คำพิพากษาศาลสูงสุดของสหรัฐอเมริกา วันที่ ๒๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๘ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๐ เป็นต้น และรูปแบบที่สองแบ่งออกเป็น ๒ กรณีคือ กรณีแรก โดยบัญญัติกฎหมายเฉพาะขึ้นมาใหม่ เช่น ประเทศอังกฤษและประเทศแคนาดา เป็นต้นและกรณีที่สอง โดยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง เช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ และประเทศเบลเยียม เป็นต้น

สาระสำคัญของร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

๑. ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. ....

๑.๑ หลักการและเหตุผล

โดยที่สถาบันครอบครัวเป็นหน่วยสำคัญในการพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน แต่การก่อตั้งครอบครัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จำกัดเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบันที่มีการอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวระหว่างบุคคลที่มีเพศเดียวกันโดยกำเนิด โดยมีการอุปการะเลี้ยงดูและมีความสัมพันธ์ในด้านอื่น ๆ ไม่แตกต่างไปจากคู่สมรส สมควรมีกฎหมายรองรับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดังกล่าว โดยมีบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับการจดทะเบียนคู่ชีวิตและการเลิกการเป็นคู่ชีวิต สิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่ชีวิต การจัดการทรัพย์สิน การรับบุตรบุญธรรม และมรดก ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวที่ก่อตั้งขึ้นระหว่างบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

๑.๒ บทนิยาม (ร่างมาตรา ๓)

“คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิดและได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตามพระราชบัญญัตินี้

“ศาล” หมายความว่า ศาลเยาวชนและครอบครัวตามกฎหมายว่าด้วยศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว