หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ส่วนตน).pdf/23

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๕ –

สิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทําการสมรสก่อนนั้นได้” มีเจตนารมณ์บัญญัติเงื่อนไขการสมรสประกอบด้วย เพศของคู่สมรสและอายุของคู่สมรส กรณีเพศของคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ยอมรับสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวเฉพาะเพศชายและหญิงเท่านั้น ส่วนอายุของคู่สมรสได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมจากเดิม มาตรา ๑๔๔๕ (๑) ที่บัญญัติว่า “ชายมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ และหญิงมีอายุสิบห้าปีบริบูรณ์แล้ว” สิทธิในการจัดตั้งครอบครัวดังกล่าวนอกจากเป็นเงื่อนไขของคู่สมรสเฉพาะชายและหญิงเท่านั้นแล้ว ยังเป็นเงื่อนไขของการหมั้น ซึ่งเป็นสัญญาก่อนที่จะมีการสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๓๕ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “การหมั้นจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว” ดังนั้น สถาบันครอบครัวจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นรากฐานสําคัญของการพัฒนาประเทศที่ต้องคํานึงถึงปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เช่น เพศของบุคคล อายุของบุคคล ความสามารถและยินยอมของบุคคลและความสัมพันธ์ระหว่างบิดา มารดา และบุตร เป็นต้น

หลักความเสมอภาคตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอันเป็นสาระสําคัญของบุคคลกล่าวคือ บุคคลที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญเหมือนกัน ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน ขณะเดียวกันบุคคลที่มีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญแตกต่างกัน ย่อมต้องได้รับการปฏิบัติแตกต่างกัน นอกจากนั้น หลักความเสมอภาคของสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวเกี่ยวกับเพศของคู่สมรสสามารถดําเนินการได้ โดยบัญญัติกฎหมายเฉพาะขึ้นมาใหม่เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนถึงกฎหมายหลักที่ได้ วางรากฐานความเป็นสถาบันครอบครัวมาตั้งแต่อดีตกาล การจดทะเบียนคู่ชีวิตถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการยอมรับบุคคลเพศเตียวกันที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ตามร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ที่อยู่ในระหว่างกระบวนการเสนอร่างกฎหมายของฝ่ายบริหารในขณะนี้และขณะเดียวกันจําเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ๒๕๕๘ บางมาตราเพื่อให้สอดคล้องกับ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต พ.ศ. .... ที่จะมีขึ้นในอนาคต ส่วนหลักการยอกยาการ์ตาว่าด้วยการใช้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศในประเด็นวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศที่เกิดจากผลการประชุมของผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนและนักนิติศาสตร์ระหว่างประเทศเมื่อวันที่ ๖ - ๘ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๙ ณ เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย นั้น ได้ให้ความสําคัญดังปรากฏในหลักการข้อ ๒๔ ว่าด้วยสิทธิในการก่อตั้งครอบครัวแต่ยังคงมีสถานะเป็นเพียงบันทึกความเข้าใจร่วมกันของผู้เข้าร่วมประชุมดังกล่าว