หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ส่วนตน).pdf/27

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๓ –

บุคคลที่เป็นเพศชายหรือเพศหญิงหรือบุคคลที่มีการแสดงออกแตกต่างจากเพศกําเนิด อีกทั้งได้มีการรับรองและคุ้มครองสิทธิบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในกฎหมายระดับปฏิบัติ คือ ข้อกําหนดคณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมแห่งชาติว่าด้วยการกําหนดบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป้าหมายเป็นผู้รับบริการสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ออกตามความในพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม พ.ศ. ๒๕๔๖ กําหนดคํานิยามกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไว้ในหมวด ๓ อันหมายความรวมถึงคนรักเพศเดียวกัน คนรักสองเพศ คนข้ามเพศ และคนที่มีลักษณะเพศทางชีววิทยาไม่ชัดเจน เป็นต้น บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ เป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมกับประชาชน กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. ๒๕๕๘ ที่ประเทศไทยได้เข้าร่วมลงนามและให้สัตยาบันกติการะหว่างประเทศรวม ๗ ฉบับ การยอมรับสถานะของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในกฎหมายระหว่างประเทศนับเป็นปัจจัยสําคัญที่มีส่วนต่อการเกื้อหนุนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างกว้างขวางในกฎหมายภายในประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นส่วนหนึ่งของความแตกต่างในทางเพศที่แม้กฎหมายจะไม่ได้มีการบัญญัติถ้อยคํากล่าวถึงสิทธิด้านความหลากหลายทางเพศไว้โดยตรง การตีความกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิบุคคลที่มีความแตกต่างทางเพศจึงจําเป็นต้องคํานึงถึงความแตกต่างทางเพศสภาพ (Gender) วิถีทางเพศ (Sexual Orientation) และความหลากหลายทางเพศ (Sexual Diversity) ดังนั้น บทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ ที่บัญญัติว่า “ชายและหญิงทําการสมรสได้เมื่อมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์” จึงเป็นบทบัญญัติที่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่ง “เพศสภาพ” อัตลักษณ์ทางเพศและความหลากหลายทางเพศขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหลักการกฎหมายระหว่างประเทศทําให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เช่น บุคคลรักเพศเดียวกันไม่ได้รับความคุ้มครองใด ๆ จากกฎหมายในการอยู่ร่วมกันเหมือนกับคู่สมรสต่างเพศ และต้องประสบปัญหาจากการไม่มีกฎหมายรับรองสถานภาพคู่ชีวิต ทั้งยังต้องสูญเสียสิทธิตามกฎหมายหรือไม่อาจเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายครอบครัวที่สําคัญบางประการทําให้บุคคลไม่เสมอกันในกฎหมาย ไม่มีสิทธิและเสรีภาพ และไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องเพศและสถานะของบุคคลทางสังคม

พิจารณาแล้วเห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๕๗ บัญญัติว่า “การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น” และมาตรา ๑๔๔๘ บัญญัติว่า “การสมรสจะทําได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทําการสมรสก่อนนั้นได้” เป็นบทบัญญัติที่กําหนดการสมรสไว้ว่าผู้ที่จะทําการสมรสได้