หน้า:คำวินิจฉัยศาล รธน ๒๕๖๔-๒๐ (ส่วนตน).pdf/3

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๓ –

ของสังคมไทยเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีการร่างบรรพ ๕ ว่าด้วยครอบครัว แม้จะยกร่างโดยอาศัยต้นแบบแนวทางของต่างประเทศ แต่เนื่องจากครอบครัวชนชาวตะวันตกกับครอบครัวชนชาวไทยมีวิถีชีวิตที่มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน บทบัญญัติในส่วนนี้จึงยังคงลักษณะของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ตลอดจนความเหมาะสมกับสภาพสังคมไทย

สำหรับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๔๘ บัญญัติว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้” บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดเงื่อนไขแห่งการสมรสไว้ ๒ ประการ คือ การสมรสให้กระทำได้ก็ต่อเมื่อเป็นการสมรสระหว่าง “ชายและหญิง” และต้องมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ โดยความหมายของการสมรสหมายถึง การที่ชายและหญิงตกลงที่จะใช้ชีวิตร่วมกันด้วยความสมัครใจ มีความสัมพันธ์อยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาเพื่อการสืบเผ่าพันธุ์จึงสงวนไว้เฉพาะชายและหญิงโดยกำเนิด มีความผูกพันช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน ภายใต้ศีลธรรม จารีตประเพณี หลักศาสนาและกฎหมายของแต่ละสังคม และเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นสถาบันทางสังคมที่สำคัญ แต่ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับสิทธิในการสมรสและก่อตั้งครอบครัวมิได้จำกัดเฉพาะเพียงชายกับหญิงตามเพศที่กำเนิดเท่านั้น บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือบุคคลที่เกิดมามีภาวะทางร่างกายหรือจิตใจไม่ตรงกับเพศที่มีมาตั้งแต่กำเนิด เช่น คนที่ชอบเพศตรงข้าม คนที่ชอบเพศเดียวกัน คนที่ชอบทั้งสองเพศ เป็นต้น การที่บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอ้างว่าตนมีเสรีภาพในการที่จะอยู่กินกับบุคคลใดก็ได้ต้องสามารถจดทะเบียนสมรสได้นั้น เป็นเพียงความรู้สึกและความพึงพอใจทางเพศ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความรักได้ แต่การแสดงออกซึ่งความรักจะต้องอยู่ในขอบเขตของกฎหมาย ประเทศไทยที่ปัจจุบันกำหนดให้ผู้ที่จะขอจดทะเบียนสมรสกันได้ต้องเป็นชายกับหญิงเท่านั้น และการเป็นชายหรือหญิงต้องถือเอาตามเพศที่มีมาแต่กำเนิด การที่ประเทศไทยยังมิได้มีการบัญญัติกฎหมายหรือแก้กฎหมายเพื่อรับรองสิทธิในการสมรสของบุคคลดังกล่าว สืบเนื่องจากวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีศีลธรรมอันดีของประชาชน ถึงแม้สิทธิในการสมรสถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอันมีรากฐานจากหลักสิทธิมนุษยชนหลักกฎหมายธรรมชาติ และหลักสิทธิธรรมชาติ และมีการบัญญัติรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights : UDHR) ข้อ ๒ และข้อ ๑๖ และหลักการยอกยาการ์ตา (The Yogyakarta Principles) ข้อ ๒๔ ว่า มนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการสร้างครอบครัวโดยไม่ขึ้นกับวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ ครอบครัวมีหลายรูปแบบห้ามมิให้ครอบครัวใดตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติจากสาเหตุแห่งวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศของสมาชิก