หน้า:คำวินิจฉัย ของศาล รธน (๒๕๕๖-๐๕).pdf/11

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๗๕ ก

๓ กันยายน ๒๕๕๖
หน้า ๑๑
ราชกิจจานุเบกษา

จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย กล่าวคือ โจทก์ไม่จำต้องพิสูจน์ถึงการกระทำหรือเจตนาของกรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลว่า มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดกับนิติบุคคลแต่อย่างใด คงพิสูจน์เพียงว่า นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และจำเลยเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับการกระทำหรือเจตนาของกรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลที่กระทำความผิดแต่อย่างใด กรณีจึงเป็นการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นได้กระทำความผิดด้วย อันมีผลเป็นการผลักภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ไปยังกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นทั้งหมดทุกคน บทบัญญัติมาตราดังกล่าวจึงถือเป็นการสันนิษฐานความผิดของจำเลยในคดีอาญาโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข มิใช่สันนิษฐานข้อเท็จจริงที่เป็นองค์ประกอบความผิดเพียงบางข้อหาหลังจากที่โจทก์ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำบางอย่างบางประการอันเกี่ยวกับความผิดที่จำเลยถูกกล่าวหาแล้วเท่านั้น จึงขัดต่อหลัก Presumption of Innocence ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เพราะมาตรา ๓๙ วรรคสอง ได้วางหลังไว้ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาทุกคนเป็นผู้บริสุทธิ์ จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่า บุคคลเหล่านั้นได้กระทำผิดตามกฎหมาย ทั้งยังเป็นการขัดต่อหลักการพื้นฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาและหลักนิติธรรม ซึ่งมีหลักการว่า ในคดีอาญา โจทก์มีภาระต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำความผิดของจำเลยเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยโดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควร โดยจำเลยไม่จำเป็นต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตน ดังนั้น พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ในส่วนที่สันนิษฐานความผิดทางอาญาของจำเลย โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยได้กระทำการใดเกี่ยวกับความผิดนั้นด้วย คงอาศัยเพียงสถานะของจำเลยเท่านั้นเป็นเงื่อนไขแห่งข้อสันนิษฐาน จึงเป็นการสันนิษฐานที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามมาตรา ๖

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๗๔ แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ เฉพาะในส่วนมี่สันนิษฐานความผิดทางอาญาของจำเลยโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นอันใช้บังคับมิได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๖

  • นายจรัญ ภักดีธนากุล
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ