หน้า:คำวินิจฉัย ของศาล รธน (๒๕๕๖-๐๕).pdf/17

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๗๕ ก

๓ กันยายน ๒๕๕๖
หน้า ๑๗
ราชกิจจานุเบกษา

ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาและขยายตัวทางเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศและระหว่างประเทศ และเพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างสรรค์งานในด้านวรรณกรรม ศิลปกรรม และงานด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มากยิ่งขึ้น

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มีบทบัญญัติกำหนดโทษสำหรับการกระทำความผิดไว้ด้วย และสำหรับกรณีนิติบุคคลกระทำความผิด มาตรา ๗๔ บัญญัติว่า "ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย" พิจารณาแล้ว เห็นว่า ในส่วนที่บทบัญญัตินี้กำหนดให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิด เป็นการวางข้อสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ถ้านิติบุคคลกระทำความผิด บุคคลเหล่านี้ก็เป็นผู้ร่วมกระทำผิดด้วย เป็นการสันนิษฐานความผิดของจำเลยโดยโจทก์ไม่จำต้องพิสูจน์ให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาของจำเลยว่า ร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคลอย่างไร คงพิสูจน์แต่เพียงว่า นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และจำเลยเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลเท่านั้น ภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตกเป็นของจำเลยที่จะต้องพิสูจน์ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย บทบัญญัติมาตรานี้เป็นการสันนิษฐานความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาโดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข จึงเป็นการตรงกันข้ามกับหลักสันนิษฐานความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

จึงเห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ เฉพาะในส่วนที่สันนิษฐานให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น โดยไม่ปรากฏว่า มีการกระทำหรือเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

  • นายเฉลิมพล เอกอุรุ
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ