หน้า:คำวินิจฉัย ของศาล รธน (๒๕๕๖-๐๕).pdf/19

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๗๕ ก

๓ กันยายน ๒๕๕๖
หน้า ๑๙
ราชกิจจานุเบกษา

ของนิติบุคคลเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคล เมื่อมีกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งหมายความว่า หากนิติบุคคลกระทำความผิดและรับโทษทางอาญา ให้สันนิษฐานว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนได้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลด้วย ซึ่งหมายถึง ต้องรับโทษทางอาญาเช่นเดียวกับนิติบุคคลนั้น ดังนี้ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ จึงเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้บุคคลต้องรับผิดทางอาญาจากการกระทำความผิดของบุคคลอื่นอันเนื่องมาจากสถานะของบุคคล โดยไม่ปรากฏว่า มีการกระทำหรือมีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับนิติบุคคล แม้ว่าความในตอนท้ายของพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ที่บัญญัติให้กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลไม่เป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคล หากพิสูจน์ได้ว่า ตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำของนิติบุคคลนั้นก็ตาม แต่ก็เป็นการผลักภาระการพิสูจน์โดยนำบุคคลเข้าสู่กระบวนพิจารณาทางอาญาในลักษณะของการสันนิษฐานว่า เป็นผู้มีความผิด ดังนั้น พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ จึงเป็นบทบัญญัติที่มีหลักการกำหนดความรับผิดทางอาญาของบุคคลทำนองเดียวกันกับกรณีของบทบัญญัติพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๔ และเป็นบทบัญญัติที่มีการสันนิษฐานไว้ก่อนว่า กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลมีความผิด ซึ่งขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้องต้น จึงเห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง

  • นายชัช ชลวร
  • ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ