หน้า:คำวินิจฉัย ของศาล รธน (๒๕๕๖-๐๕).pdf/2

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๗๕ ก

๓ กันยายน ๒๕๕๖
หน้า ๒
ราชกิจจานุเบกษา

"ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย" เป็นบทบัญญัติที่สันนิษฐานว่า ผู้ร้องเรียน ซึ่งเป็นกรรมการของบริษัท อารียา พรอพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) มีความผิด โดยผู้กล่าวหาไม่จำต้องพิสูจน์หรือแสดงหลักฐานให้เห็นถึงการกระทำหรือเจตนาอย่างใดอย่างหนึ่งของผู้ร้องเรียนก่อน แต่กลับนำการกระทำความผิดของบริษัทมาเป็นข้อสันนิษฐานให้ผู้ร้องเรียนมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญา เป็นการผลักภาระการพิสูจน์ความบริสุทธิ์มายังกรรมการหรือผู้จัดการที่ต้องพิสูจน์ว่า ไม่ได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย บทบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นการสันนิษฐานความผิดของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา โดยอาศัยสถานะของบุคคลเป็นเงื่อนไข ซึ่งเป็นการบัญญัติกฎหมายที่ทำให้กรรมการหรือผู้จัดการถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพ เช่น ถูกหมายเรียก และอาจถูกจับกุม คุมขัง ต้องขอประกันตัว โดยไม่มีพยานหลักฐานในเบื้องต้นว่า กรรมการหรือผู้จัดการได้กระทำการหรือมีเจตนาประการใดอันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหา อีกทั้งบทบัญญัติดังกล่าวยังขัดต่อหลักนิติธรรม และขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง ผู้ร้องเรียนจึงส่งเรื่องให้ผู้ร้องเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๔๕ (๑)

ผู้ร้องเห็นว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา ๓๙ วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา โดยต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่า บุคคลนั้นได้กระทำความผิดจริง ถือเป็นหลักประกันสิทธิและเสรีภาพของบุคคลเกี่ยวกับความผิดทางอาญา โดยให้โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ศาลเห็นว่า จำเลยเป็นผู้กระทำความผิด ส่วนพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ เป็นการสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาของกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคล โดยให้ถือว่า กรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลเป็นผู้ร่วมกระทำผิดกับนิติบุคคลด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอม จึ่งมีผลว่า เมื่อโจทก์สามารถนำสืบให้เห็นถึงข้อเท็จจริงอันเป็นเงื่อนไขของข้อสันนิษฐานว่า บุคคลนั้นเป็นกรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลที่กระทำความผิดแล้ว ก็จะทำให้ได้รับการสันนิษฐานว่า กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดด้วย อันเป็นการนำการกระทำความผิดของบุคคลอื่นมาเป็นเงื่อนไขของการสันนิษฐานให้กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลมีความรับผิดทางอาญา เป็นการผลักภาระการพิสูจน์ให้แก่กรรมการหรือผู้จัดการของนิติบุคคลในการที่จะต้องนำเสนอพยานหลักฐานเพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานนั้น นอกจากนั้น