หน้า:คำวินิจฉัย ของศาล รธน (๒๕๕๖-๐๕).pdf/9

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

เล่ม ๑๓๐ ตอนที่ ๗๕ ก

๓ กันยายน ๒๕๕๖
หน้า ๙
ราชกิจจานุเบกษา

ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน
ของ นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
คำวินิจฉัยที่ ๕/๒๕๕๖
เรื่องพิจารณาที่ ๕๗/๒๕๕๕
 
วันที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖

ประเด็นวินิจฉัย

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ มาตรา ๗๔ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ วรรคสอง หรือไม่

ความเห็น

พิจารณาแล้ว เห็นว่า ข้อสันนิษฐานว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) เป็นข้อสันนิษฐานที่ถูกกำหนดขึ้นโดยผลของกฎหมายรัฐธรรมนูญอันมีที่มาจากหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งถือเป็นหลักการพื้นฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาสากลที่ว่า บุคคลทุกคนมิใช่ผู้กระทำผิดทางอาญา เพื่อเป็นหลักประกันแห่งสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของบุคคลเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญา ที่รัฐให้การรับรองแก่บุคคลทุกคนที่จะไม่ถูกลงโทษทางอาญา จนกว่าจะมีพยานหลักฐานมาพิสูจน์หักล้างได้ว่า บุคคลนั้นเป็นผู้กระทำผิดจริงโดยปราศจากข้อสงสัยตามสมควร นอกจากนี้ หลักการของข้อสันนิษฐานตามกฎหมายรัฐธรรมนูญดังกล่าวยังเป็นหลักสำคัญประการหนึ่งของหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ที่ได้รับการยอมรับทั้งในนานาอารยประเทศและในระดับระหว่างประเทศ ดังปรากฏจากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 1948 (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ ๑๑ (๑) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. ๑๙๖๖ (International Covenant on Civil and Political Rights) ข้อ ๑๔-๒ เป็นต้น

หลักการของข้อสันนิษฐานตามกฎหมายว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญาเป็นผู้บริสุทธิ์นี้ ประเทศไทยได้รับรองให้ปรากฏไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๔๙๒ และในรัฐธรรมนูญฉบับต่อมาทุกฉบับจนถึงฉบับปัจจุบันซึ่งได้รับรองหลักการดังกล่าวไว้ในมาตรา ๓๙ วรรคสอง หมวด ๓ ว่าด้วยสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย ส่วนที่ ๔ สิทธิในกระบวนการุยติธรรม โดยบัญญัติว่า