หน้า:คำสั่งศาลอาญา ๒๕๖๔-พศ๗๖.pdf/5

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
 (๓๑ พ.)
สำหรับศาลใช้
 
ตราครุฑ
ตราครุฑ
– ๕ –

ประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์เรื่องนี้หรือไม่ คดีนี้ ผู้ร้องอ้างว่า เนื้อความที่เผยแพร่เข้าข่ายเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๑๔ (๓) แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นเหตุให้ผู้ร้องขอให้ระงับการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ เห็นว่า ความตามคำร้องนี้อาจเป็นได้ทั้งกรณีตามมาตรา ๒๐ (๑) หรือมาตรา ๒๐ (๒) ซึ่งมีหลักการที่แตกต่างกัน กรณีตามอนุมาตรา ๑ ซึ่งเชื่อมโยงไปยังมาตรา ๑๔ (๓) นั้น เมื่ออ่านถ้อยคำในมาตรา ๑๔ (๓) ซึ่งกำหนดความผิดสำหรับการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญานั้น เห็นว่า ถ้อยคำที่ว่า “อันเป็นความผิด” แสดงว่า กฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้ที่นำข้อมูลซึ่งได้มีการวินิจฉัยโดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นความผิดเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของกฎหมายเพื่อมิให้ความผิดตามมาตรา ๑๔ (๓) นี้ซ้ำซ้อนกับความผิดประมวลกฎหมายอาญาที่มีโทษสูงกว่าอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อยังไม่มีการฟ้องเกี่ยวกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ตามคำร้องนี้ให้รับผิดตามประมวลกฎหมายอาญา จึงไม่มีกรณีต้องวินิจฉัยตามมาตรา ๑๔ (๓) และไม่เข้าเหตุตามมาตรา ๒๐ (๑)

มีข้อพิจารณาต่อไปว่า กรณีตามคำร้องจะเข้าเหตุตามมาตรา ๒๐ (๒) หรือไม่ ซึ่งตามอนุมาตรานี้ให้อำนาจศาลระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงตามประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๒ ลักษณะ ๑ และลักษณะ ๑/๑ คำว่า “อาจ” แสดงว่า การห้ามตามมาตรานี้มีลักษณะคล้ายมาตรการ

/เพื่อ...