หน้า:ตั๋วเงิน - ประวัติ ปัตตพงศ์ - ๒๔๘๐.pdf/101

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๙๔
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตั๋วเงิน, ประกันภัย, บัญชีเดินสพัด

ผิดชอบ ข้อเถียงเช่นนี้ฟังไม่ได้ เพราะตั๋วแลกเงินนั้น กฎหมายต้องการเพียงให้มีรายการต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙๐๙ กฎหมายไม่ได้ประสงค์เลยไปถึงว่า รายการเหล่านั้นจะต้องเป็นรายการอันถูกต้องแท้จริง เพราะฉะนั้น เมื่อตั๋วแลกเงินปรากฏว่ามีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายแล้ว แม้ลายมือชื่อนั้นจะเป็นลายมือปลอมก็ดี ก็หาทำให้ตั๋วนั้นเสียไปไม่ และเมื่อตั๋วนั้นได้มีการสลักหลังกันต่อไป การสลักหลังก็เท่ากับผู้สลักหลังอันเป็นสัญญาว่า ตั๋วนั้นจะมีผู้ใช้เงิน มิฉะนั้น ตนจะเป็นผู้ใช้ให้ ดั่งนี้ คำตอบในปัญหาที่กล่าวมาข้างต้น ก็คือ ผู้สลักหลังภายหลังที่ได้มีการปลอมลายมือชื่อในตั๋วจะต้องรับผิดตามคำสลักหลังของตนนั้น เช่น ตั๋วแลกเงินฉะบับหนึ่งมีชื่อนายแดงเป็นผู้สั่งจ่ายเงินเอาจากตนเองให้แก่ ก. หรือตามคำสั่ง ความจริง ก. เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อนายแดง หรือนัยหนึ่ง ปลอมตั๋วนั้นขึ้นทั้งฉะบับ ก. สลักหลังตั๋วนั้นให้แก่ ข. ข. สลักหลังต่อไปให้ ค. ในการที่ ก. และ ข. สลักหลังตั๋วนั้น ก็เท่ากับ ก. และ ข. สัญญาว่า ตั๋วนั้นจะมีผู้จ่ายเงินเมื่อถึงกำหนด ถ้ามิฉะนั้น ตนจะเป็นผู้ใช้ให้ ดั่งนี้ เมื่อ ค. นำตั๋วไปขึ้นเงินจากนายแดงไม่ได้ เพราะนายแดงถูกปลอมชื่อ ค. ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจาก ก. และ ข. ได้ สำหรับ ข. ถ้าได้ใช้เงินไปแล้ว ก็ย่อมมีสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจาก ก. อีกต่อหนึ่ง ดั่งนี้ มาตรา ๑๐๐๖ จึงบัญญัติว่า "การที่ลายมือชื่ออันหนึ่งในตั๋วเงินเป็นลายมือปลอม ย่อมไม่กะทบกะทั่งถึงความสมบูรณ์แห่งลายมือชื่ออื่น ๆ ในตั๋วเงินนั้น"

การที่กฎหมายบัญญัติเช่นนี้ ต้องระวังอย่าเข้าใจเลยไปถึงว่า เพราะเหตุที่กฎหมายบัญญัติว่า เมื่อลายมือปลอมไม่กะทบกะทั่งถึงความ

ม.ธ.ก.