หน้า:ตั๋วเงิน - ประวัติ ปัตตพงศ์ - ๒๔๘๐.pdf/106

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๙๙
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตั๋วเงิน, ประกันภัย, บัญชีเดินสพัด

และอาจเป็นที่เสียหายต่อเขา เช่นนี้ กฎหมายจะไม่ยอมให้บุคคลนั้นเถียงว่า เหตุการณ์มิได้เป็นอยู่ดั่งที่ตนได้แสดงออกมานั้น

อุทาหรณ์

(๑) ตั๋วแลกเงินฉะบับหนึ่งมีลายมือชื่อของ ก. ผู้รับรองปลอม ผู้ทรงตั๋วเงินโดยสุจริตทราบจากผู้บอกในภายหลังว่า ลายมือชื่อผู้รับรองนั้นหาใช่ลายมือชื่ออันแท้จริงไม่ ผู้ทรงจึงเขียนหนังสือถามไปยัง ก. ก. ตอบว่า ลายมือชื่อในตั๋วเงินนั้นเป็นลายมือชื่อของตน ก. ต้องรับผิดตามตั๋วเงินนั้น แม้จะปรากฎว่า ลายมือชื่อของ ก. เป็นลายมือปลอมก็ดี

(๒) ก. ปลอมคำรับรองของ ข. ในตั๋วแลกเงินฉะบับหนึ่ง ข. ได้ใช้เงินให้แก่ผู้ทรงตั๋วเงินฉะบั้นไป ต่อมา ก. ปลอมคำรับรองของ ข. ในตั๋วแลกเงินอีกฉะบับหนึ่งซึ่ง ข. ไม่ทราบ และทั้งไม่ทราบว่า ตั๋วแลกเงินฉะบับนี้บังเอิญตกไปอยู่ในมือของผู้ทรงคนเดียวกัน ข. อาจยกข้อต่อสู้ว่า ลายมือชื่อของตนถูกปลอมได้ กฎหมายไม่ปิดปาก

สำหรับลายมือปลอมนั้น เจ้าของชื่อจะให้สัตยาบันไม่ได้ ส่วนลายมือที่ลงโดยปราศจากอำนาจนั้น โดยเหตุที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับตัวการตัวแทน และมาตรา ๘๒๓ บัญญัติว่า การที่ตัวแทนกระทำการโดยปราศจากอำนาจย่อมไม่ผูกพันตัวการ เว้นแต่ตัวการจะให้สัตยาบันแก่การนั้น เพราะฉะนั้น การลงลายมือชื่อในตั๋วเงินโดยปราศจากอำนาจ เจ้าของลายมือชื่อจึงอาจให้สัตยาบันได้ ดั่งที่ปรากฏในวรรคสุดท้ายแห่งมาตรา ๑๐๐๘ นั้น

ม.ธ.ก.