หน้า:ตั๋วเงิน - ประวัติ ปัตตพงศ์ - ๒๔๘๐.pdf/125

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๑๘
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตั๋วเงิน, ประกันภัย, บัญชีเดินสพัด

วิธีเข้ารับอาวัล: วิธีเข้าทำสัญญารับอาวัลนั้น ตามมาตรา ๙๓๙ บัญญัติว่า "อันการรับอาวัลย่อมทำให้กันด้วยเขียนลงในตั๋วเงินนั้นหรือที่ใบประจำต่อ

ในการนี้ พึงใช้ถ้อยคำสำนวนว่า "ใช้ได้เป็นอาวัล" หรือสำนวนอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น และลงลายมือชื่อผู้รับอาวัล

อนึ่ง เพียงแต่ลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลในด้านหน้าแห่งตั๋วเงิน ท่านก็จัดว่า เป็นคำรับอาวัลแล้ว เว้นแต่ในกรณีที่เป็นลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย

ในคำรับอาวัล ต้องระบุว่า รับประกันผู้ใด หากมิได้ระบุ ท่านให้ถือว่า รับประกันผู้สั่งจ่าย"

มีข้อที่ควรสังเกตว่า การเข้ารับอาวัลนี้ ตามธรรมดาควรเขียนข้อความว่า เป็นการรับอาวัล แล้วลงลายมือชื่อของผู้รับอาวัลด้วย แต่ถ้าผู้รับอาวัลจะเพียงแต่ลงลายมือชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั๋วเงินอย่างเดียว กฎหมายก็ยังยอมให้เป็นการใช้ได้เหมือนกัน (ต้องลงในด้านหน้า ถ้าลงในด้านหลัง จะกลายเป็นสลักหลังไป) อนึ่ง การที่มีลายมือชื่อของบุคคลลงในด้านหน้าตั๋วเงินที่จะแปลว่าเป็นอาวัลนั้น ต้องไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้จ่ายหรือผู้สั่งจ่าย เพราะเหตุว่า ผู้จ่ายนั้น ถ้าได้ลงชื่อของตนในด้านหน้าแห่งตั่วเงิน ก็เท่ากับเป็นการรับรองตั๋วนั้น (มาตรา ๙๓๑) ส่วนผู้สั่งจ่ายก็เช่นเดียวกัน ตามธรรมดาตั๋วแลกเงินต้องลงลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายอยู่แล้วจึ่งจะใช้ได้ ฉะนั้น ในกรณีที่มีลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายหรือลายมือชื่อผู้จ่ายลงในด้านหน้าตั๋วเงิน ถ้าจะยอมให้ถือว่าเป็นการรับอาวัลได้แล้ว ก็จะไปขัดกับวิธีการของตั๋วแลกเงิน

ม.ธ.ก.