หน้า:ตั๋วเงิน - ประวัติ ปัตตพงศ์ - ๒๔๘๐.pdf/39

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๒
กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตั๋วเงิน, ประกันภัย, บัญชีเดินสพัด

เดียวกับที่เจ้าหนี้มีหน้าที่ต่อผู้ค้ำประกัน เช่น ถ้าผู้ทรงตั๋วแลกเงินยอมผ่อนเวลาให้แก่ผู้จ่าย ผู้ทรงย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้เป็นคู่สัญญาคนก่อน ๆ ซึ่งมิได้ตกลงในการผ่อนเวลานั้น เช่นเดียวกับเมื่อเจ้าหนี้ยอมผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้โดยผู้ค้ำประกันมิได้ตกลงด้วย ย่อมทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดไป เป็นต้น (ดูมาตรา ๙๔๘ เทียบกับมาตรา ๗๐๐) อีกประการหนึ่ง ถ้าผู้ทรงปลดหนี้ให้แก่ผู้รับรอง ก็ย่อมทำให้ผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังคนก่อน ๆ หลุดพ้นไปด้วย เช่นเดียวกับเมื่อเจ้าหนี้ปลดหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ย่อมทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นไปด้วย

ต่อไปนี้ จะได้กล่าวถึงความรับผิดของผู้รับรอง, ผู้สั่งจ่าย และผู้สลักหลัง โดยลำดับตามที่บัญญัติไว้ในลักษณะตั๋วเงิน

ผู้รับรอง

ความรับผิดของผู้รับรอง:- มาตรา ๙๓๗ บัญญัติว่า "ผู้จ่ายได้ทำการรับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ต้องพูกพันในอันที่จะจ่ายเงินจำนวนที่รับรองตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน"

มาตรานี้เป็นแม่บทความรับผิดของผู้จ่าย ซึ่งเมื่อได้รับรองตั๋วแลกเงินแล้ว ย่อมเกิดเป็นคู่สัญญา และต้องรับผิดในฐานเป็นลูกหนี้ชั้นต้นในตั๋วแลกเงินในอันที่จะต้องจ่ายเงินตามจำนวนที่ตนรับรองและตามเนื้อความแห่งคำรับรองของตน เพราะฉะนั้น ถ้าได้รับรองแล้วมีผู้แก้ไขจำนวนเงินในตั๋วให้มากขึ้น ผู้รับรองจะต้องรับผิด

ม.ธ.ก.