หน้า:ตำนานกฎหมายเมืองไทย - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๙๓.pdf/19

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๓

ชัด อยู่มาในกาลครั้ง ๑ น่าจะเป็นในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช เมื่อกรุงศรีอยุธยายังเกี่ยวข้องกับกรุงหงสาวดีอยู่ ได้กฎหมายมนูธรรมศาสตร์ซึ่งแปลเป็นภาษารามัญเข้ามาในเมืองไทย และมีผู้มาแปลมนูธรรมศาสตร์จากภาษารามัญออกเป็นภาษาไทย แต่จะแปลเมื่อใด ข้อนี้ถ้าจะคาดตามเรื่องในพระราชพงศาวดาร ก็น่ายุตติว่า คงจะแปลในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชนั้นเอง หรือมิฉะนั้น ก็ในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐ เพราะในแผ่นดินสมเด็จพระนเรศวรติดการทัพศึก เห็นจะไม่มีเวลาแปล

ที่เรียกว่า ธรรมศาสตร์ของพระมโนสาร หรือ มนู นี้ เป็นต้นเค้าของกฎหมายในมัธยมประเทศ เป็นหนังสือคัมภีร์ใหญ่โตมาก ข้าพเจ้าได้สดับเรื่องราวเล่ามาจากรามัญประเทศว่า เดิมมอญได้มาเป็นภาษาสังสกฤต มีพระภิกษุรูป ๑ มาแปลออกเป็นภาษามคธที่เมืองรามัญ (แล้วจึงมีผู้แปลออกเป็นภาษารามัญอีกที ๑) ข้าพเจ้าได้ให้สืบหาหนังสือพระธรรมศาสตร์รามัญ พึ่งได้มาไม่ช้านัก เป็นหนังสือน้อยกว่าพระธรรมศาสตร์อินเดียเป็นอันมาก มีภาษามคธชั่วแต่มาติกากฎหมาย นอกนั้นเป็นภาษารามัญ ได้วานพระเทวโลก แต่ยังเป็นหลวงโลกทีป[1] ซึ่งเป็นผู้รู้ภาษารามัญ แปลออกดู ได้ความตามมาติกามูลคดีวิวาทของรามัญตรงกับพระธรรมศาสตร์มัธยมประเทศ และตำนานที่กล่าวในพระธรรมศาสตร์รามัญถึงเรื่องพระเจ้ามหาสมมตราชตรงกับใน


  1. เดี๋ยวนี้เป็นพระยาโหราธิบดี