หน้า:ตำนานกฎหมายเมืองไทย - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๙๓.pdf/31

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๕

แรกที่ได้พิมพ์หมายประกาศ แต่พิมพ์ครั้งนั้นแล้ว ก็มิได้ปรากฏว่า พิมพ์ประกาศเรื่องอื่นต่อมาอีก ถึงรัชกาลที่ ๔ ในชั้นแรก ประกาศต่าง ๆ ก็ยังใช้เขียนแจกตามแบบเดิม ปรากฏแต่ว่า ทรงแก้ไขวิธีแจกประกาศ ซึ่งแต่เดิมกรมพระสุรัสวดีเป็นพนักงานเขียนประกาศแจกจ่ายไปตามกระทรวงทบวงการต่าง ๆ นั้น โปรดฯ ให้กรมต่าง ๆ ไปคัดสำเนาหมายประกาศเอง ณ หอหลวง ยังคงส่งสำเนาประกาศไปแต่ที่มหาดไทย กลาโหม และกรมท่า สำหรับจะได้มีท้องตราประกาศออกไปตามหัวเมือง การที่แก้ไขชั้นนี้ก็พอเห็นเหตุได้ คงเป็นเพราะการเขียนประกาศแจกจ่ายมาแต่ก่อนเป็นการมากมายเหลือกำลังพนักงานกรมพระสุรัสวดี แจกไปไม่ทั่วถึงทุกกระทรวงทบวงการได้จริงดังที่กล่าวในลักษณะประกาศ จึงได้โปรดฯ ให้กรมอื่น ๆ ไปคัดประกาศเอาเอง ณ หอหลวง ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ นั้น โปรดฯ ให้สร้างโรงพิมพ์หลวงขึ้นที่ในพระบรมมหาราชวัง ขนานนามว่า โรงอักษรพิมพการ (อยู่ตรงพระที่นั่งภาณุมาศจำรูญบัดนี้) เริ่มพิมพ์หมายประกาศเมื่อปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๐๑ ในชั้นต้น โปรดเกล้าฯ ให้ทำเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวออกโดยระยะเวลา ขนานนามว่า หนังสือราชกิจจานุเบกษา บอกข่าวในราชสำนักและเก็บความจากประกาศต่าง ๆ ซึ่งได้ออกในระยะนั้นบอกไว้ให้ทราบเพียงเนื้อความ หนังสือราชกิจจานุเบกษาซึ่งออกในรัชกาลที่ ๔ ครั้งนั้น พิเคราะห์ดูเรื่องที่พิมพ์เป็นพระราชนิพนธ์สมเด็จฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมาก เห็นจะไม่มีผู้อื่นกล้ารับผิดชอบเป็นผู้แต่ง ครั้นต่อมา ทรงติดพระราชธุระอื่น