หน้า:ตำนานกฎหมายเมืองไทย - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๙๓.pdf/36

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๐

กฎหมายกรุงกัมพูชาที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ได้รวบรวมในครั้งสมเด็จพระนโรดมทรงราชย์โดยมาก


การตั้งทำเนียบศักดินาที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้ทรงจัดขึ้นอีกอย่าง ๑ นั้น ได้ความในกฎหมายว่า ตั้งเมื่อปีจอ จุลศักราช ๘๑๖ พ.ศ. ๑๙๙๗ คือ ตั้งกำหนดว่า ผู้มียศชั้นใดควรมีนาเท่าใด ดังเช่น เจ้าพระยา หรือพระยาชั้นสูง มีนาได้คนละ ๑๐๐๐๐ ไร่บ้าง ๕๐๐๐ ไร่บ้าง ๓๐๐๐ ไร่บ้าง ขุนนางผู้น้อย ตั้งแต่ ๔๐๐ ไร่ขึ้นไป ส่วนพลเมืองมีนาได้คนละ ๒๕ ไร่ แปลว่า ในเวลาที่ตั้งกำหนดศักดินาขึ้นนั้น คนทำราชการไม่ได้รับเบี้ยหวัดเงินเดือน เวลานั้น ที่ดิน คือ ที่นา เป็นสมบัติอันมีราคายิ่งกว่าอย่างอื่น ผู้ที่แสวงหาทรัพย์สมบัติย่อมแสวงหาที่ดินเป็นสำคัญ เพื่อจะไม่ให้แย่งที่ดินกันนั้น ประการ ๑ เพื่อจะให้คนมีที่ดินมากแลน้อยตามกำลังและยศศักดิ์ ประการ ๑ จึงได้ตั้งพระราชบัญญัติกำหนดศักดินา คือว่า ถ้าผู้มียศถึงเท่านั้น รัฐบาลอนุญาตให้มีที่นาได้เท่านั้นเป็นอย่างมาก จะมีเกินอนุญาตไม่ได้ นี่เป็นมูลเหตุของศักดินา แต่เมื่อได้ตั้งศักดินาขึ้นแล้ว ศักดินาเลยเป็นเครื่องกำหนดสำหรับใช้ในการอื่นต่อไปอีกหลายอย่าง เช่น เป็นหลักในการปรับไหม เป็นหลักอำนาจในการบางอย่าง เช่น แต่งทนายว่าความ เป็นต้น ไม่ใช่แต่เพียงจะมีนาได้กี่ไร่