หน้า:ตำนานกฎหมายเมืองไทย - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๙๓.pdf/37

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๑

อย่างเดียว ประเพณีศักดินายังมีอยู่จนทุกวันนี้[1] แต่อำนาจแลประโยชน์ทั้งปวงที่ได้จากศักดินาได้เลิกเสียแล้วแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


หนังสือพระราชพงศาวดารกล่าวอีกข้อ ๑ ว่า สมเด็จพระเอกาทศรฐโปรดให้ตั้ง "ส่วยสัดพัฒนากรขนอนตลาด" ว่าเพียงเท่านี้ ยากที่จะเข้าใจได้ว่า จัดการที่ว่านั้นอย่างไร ๆ บ้าง แต่เชื่อได้ว่า ไม่ใช่พึ่งตั้งภาษีอากรขึ้นคราวนั้นเหมือนกัน ภาษีอากรคู่กับรัฐบาล เหมือนกับกฎหมายคู่กับประชุมชน มีรัฐบาลเมื่อใด ภาษีอากรก็มีมาแต่เมื่อนั้น ผิดกันต่างกันแต่วิธีเก็บภาษี ภาษีอากรที่เรียกรวมในชื่อว่า "ส่วยสัดพัฒนากรขนอนตลาด" นี้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่า จำแนกเป็น ๓ อย่าง คือ ส่วย อย่าง ๑ อากรขนอน อย่าง ๑ อากรตลาด อย่าง ๑ วิธีเก็บ ถ้าหมายความว่า ๓ อย่างนี้ ได้ความตามหนังสือของมองสิเออร์เลอลูแบ ประกอบกับที่เข้าใจความตามที่กล่าวในกฎหมาย เป็นดังนี้

ส่วยนั้น ตามความที่เข้าใจกันทุกวันนี้ หมายความว่า ยอมให้ไพร่พลส่งสิ่งของได้แทนแรงที่ต้องมาเข้าเวรรับราชการ เป็นต้นว่า ไพร่พลพวกใดตั้งภูมิลำเนาอยู่ในที่มีป่าไม้ ยอมให้ไพร่พลพวกนั้นตัดไม้ที่ต้องการใช้ในราชการส่งมาโดยกำหนดคนละเท่านั้น ๆ ไม้นั้นเรียกว่า 


  1. เลิกเสียเมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญ