หน้า:ตำนานกฎหมายเมืองไทย - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๙๓.pdf/39

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๔

เก็บส่วยจากไพร่พล ถ้าตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐจริงดังกล่าวในหนังสือพระราชพงศาวดาร ข้าพเจ้าเข้าใจว่า เกิดแต่จะบำรุงการทำมาหากิน ด้วยไพร่พลต้องทำศึกสงครามบอบช้ำมาช้านาน และเข้าใจว่า วิธีที่ยอมให้ส่งส่วยนี้เอง ในรัชกาลอื่นภายหลัง มาขยายต่อออกไปจนให้ส่งเงินแทนรับราชการได้ จึงเกิดมีประเพณีเสียเงินค่าราชการสืบมา ของส่วยที่เรียกในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐ ทราบไม่ได้ว่า อะไรบ้าง มาทราบได้ในชั้นหลัง ซึ่งข้าพเจ้าจะเอาไว้อธิบายในรัชกาลอื่นต่อไป.

ที่เรียกว่า อากรขนอน นั้น ตามเนื้อความเท่าที่จะทราบได้ เป็นภาษีเก็บในจังหวัดราชธานี คือ ตั้งด่านขึ้นตามทางน้ำทางบกที่มหาชนไปมาค้าขายต้องผ่าน ครั้งกรุงเก่าเรียกด่านภาษีว่า ขนอน จะเป็นเรือก็ตาม เกวียนก็ตาม เมื่อพาสินค้าผ่านขนอน เก็บสินค้านั้นเป็นภาคหลวงโดยอัตรา ๑๐ ชัก ๑ ซึ่งเราเรียกกันทุกวันนี้ว่า ภาษีภายใน หรือภาษีผ่านด่าน มาจากอากรขนอนนี้เอง ถ้าเชื่อตามหนังสือพระราชพงศาวดารว่า ก็ตั้งขึ้นในแผ่นดินสมเด็จพระเอกาทศรฐเป็นปฐมเหมือนกัน

อากรตลาดนั้น เข้าใจว่า อย่างเดียวกับที่เรียกว่า เก็บจังกอบ เก็บแต่ในจังหวัดราชธานีเหมือนกัน คือ ที่ใดราษฎรประชุมกันตั้งตลาดค้าขาย ที่นั้นก็ตั้งให้มีกำนันตลาดเก็บภาษีจากร้านและผู้ซึ่งมาขายของ อัตราที่เก็บเท่าใดในครั้งกรุงเก่า ข้าพเจ้ายังค้นไม่พบ