หน้า:ตำนานกฎหมายเมืองไทย - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๙๓.pdf/8

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

หรือบางทีจะมีวิธีเขียนภาษาไทยด้วยตัวหนังสือคฤนถ์แปลร้อยได้ แต่การจดลงเป็นหนังสือ[1] ไม่ว่าภาษาใด คงเป็นหน้าที่พราหมณ์ เพราะผู้ที่รู้หนังสือและเจ้าตำรับกฎหมายในเวลานั้นมีอยู่แต่ในพวกพราหมณ์ ด้วยเหตุนี้ พราหมณ์จึงเป็นเจ้าหน้าที่สำคัญในการรักษากฎหมายมาแต่โบราณ แม้จะดูในทำเนียบศักดินาพลเรือนในกฎหมายที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ก็จะเห็นได้ว่า ตำแหน่งลูกขุน ณ ศาลหลวง ที่สูงศักดิ ชื่อเป็นพราหมณ์ทั้งนั้น สมเด็จพระร่วงเจ้าพระองค์ที่มีพระนามจารึกไว้ว่า พ่อขุนรามคำแหง หรือที่เรียกในหนังสืออื่น มีหนังสือชินกาลมาลินีเป็นต้น ว่า พระยารามราช เป็นผู้คิดหนังสือไทยขึ้นเมื่อปีมะแม จุลศักราช ๖๔๕ มหาศักราช ๑๒๐๕ ตรงกับพุทธศักราช ๑๘๒๖ (ตัวอย่างหนังสือไทยของสมเด็จพระร่วงเจ้า จารึกหลักศิลามีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณทุกวันนี้) เมื่อมีหนังสือไทยขึ้นแล้ว กฎหมายก็ตั้งขึ้นต่อมา หรือกฎหมายเก่าที่มีอยู่แล้ว จึงได้เริ่มจดลงและรักษามาในหนังสือไทย แต่ความรู้หนังสือไทยแพร่หลายเร็วมาก ข้อนี้มีพะยานเห็นได้ด้วยศิลาจารึกภาษาไทยรุ่นเก่าใช้ตัวหนังสือไทยตามแบบของพระเจ้าขุนรามคำแหงทั่วทุกเมืองในอาณาจักร์ลานนาไทยตลอดขึ้นไปจนกรุงศรี


  1. เมื่อไม่ช้ามานัก ในปีนี้ พนักงานกรมทางพบศิลาจารึกอักษรไทยที่เมืองสุโขทัยแผ่น ๑ นำมาส่งราชบัณฑิตยสภา ตรวจได้ความว่า เป็นกฎหมายลักษณโจร พระเจ้าเลอไทย ราชโอรสซึ่งรับรัชทายาทพระเจ้ารามคำแหงมหาราช ให้จารึกไว้เมื่อราว พ.ศ. ๑๘๘๗ ราชบัณฑิตยสภากำลังตรวจพิเคราะห์ว่า การตั้งกฎหมายในสมัยนั้นจะใช้จารึกศิลาปักโฆษณาหรืออย่างไร ยังไม่ยุตติความเห็นลงเป็นแน่