หน้า:ตำนานพระปริตร - ดำรง - ๒๔๖๒.pdf/13

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

ภาณวารยืดยาว มีพระปริตต่าง ๆ ถึง ๒๒ เรื่อง จัดไว้เป็น ๔ ภาค กว่าจะสวดตลอดเป็นเวลาช้านานกว่าครึ่งวัน จึงต้องคิดวิธีสวดภาณวารขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ นิมนต์คณะสงฆ์ให้ผลัดกันสวดคราวละ ๔ รูป และบางทีจะมีพระเถระผู้เชี่ยวชาญนั่งกำกับตรวจทานด้วยอีกรูป ๑ (เหมือนอย่างสวดภาณวารที่ไทยเราใช้เป็นแบบอยู่ทุกวันนี้) มีหลักฐานว่า ชาวลังกานับถือคัมภีร์ภาณวารมาก ถึงมีพระมหาเถระองค์หนึ่งทรงนามว่า อโนมทัสสี แต่งอัฏฐกถาอธิบายคุณภาณวารขึ้นอีกคัมภีร์หนึ่ง ให้ชื่อว่า สารัตถสมุจจัย เป็นคัมภีร์ใหญ่จำนวนหนังสือถึง ๑๓ ผูกใบลาน (ได้แปลเป็นภาษาไทยเมื่อรัชชกาลที่ ๓ และหอพระสมุดฯ ได้พิมพ์แล้ว) ก็ในพงศาวดารลังกาว่า มีพระอโนมทัสสีเป็นพระมหาเถระสำคัญองค์หนึ่งอยู่ในรัชชกาลพระเจ้าบัณฑิตปรักกมพาหุซึ่งเสวยราชย์เมื่อ พ.ศ. ๑๘๐๙ ถ้าเป็นองค์เดียวกัน ก็เป็นหลักฐานอีกอย่างหนึ่งว่า คัมภีร์ภาณวารเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๑๘๐๙ บางทีจะก่อนนั้นตั้งหลายร้อยปี

ตั้งแต่เกิดมีคัมภีร์ภาณวารขึ้นแล้ว พึงสันนิษฐานได้ว่า พระสงฆ์ชาวลังกาคงอาศัยคัมภีร์นั้นเป็นตำราท่องสวดมนตร์ และลักษณะการที่สวดมนตร์คงเป็น ๒ อย่างต่างกัน คือ คณะสงฆ์ ๔ รูปผลัดกันสวดภาณวารจนตลอดทั้งคัมภีร์ อย่าง ๑ เลือกฉะเพาะสูตรฉะเพาะคาถาไปสวดอนุโลมตามเหตุการณ์ อย่าง ๑ และการสวดฉะเพาะสูตร์และฉะเพาะคาถานั้น พระเถระผู้นำสวดมักกล่าวเป็นลำนำสรรเสริญคุณของพระสูตรและคาถานั้น ๆ (ที่เราเรียกกันว่า "ขัดตำนาน") ก่อน แล้วจึงชวนให้คณะสงฆ์