หน้า:ตำนานพระปริตร - ดำรง - ๒๔๖๒.pdf/15

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๐

อธิษฐานให้พระปริตช่วยคุ้มครองพระเจ้าแผ่นดินและให้ตั้งใจสวดพระปริตสำหรับขัดตำนานก่อนสวดพระปริตนั้นด้วยบทว่า

  • สรชฺชํ สเสนํ สพนฺธุํ นรินฺทํ
  • ปริตฺตานุภาโว สทา รกฺขตูติ ฯลฯ

ดังนี้ เมื่อมีราชปริตเป็นแบบสำหรับสวดในงานหลวง ก็เป็นธรรมดาที่คนทั้งหลายจะเกิดนิยมอยากให้สวดพระปริตนั้นณที่อื่น ๆ ต่อไปจนเป็นประเพณีในพื้นเมือง แต่น่าสงสัยอยู่ข้อหนึ่ง ด้วยราชปริตปรากฏเป็น ๒ อย่าง เรียกว่า "จุลราชปริต" (๗ ตำนาน) อย่าง ๑ "มหาราชปริต" (๑๒ ตำนาน) อย่าง ๑ อย่างใหนจะเป็นตัวแบบเดิม ข้อนี้เคยสันนิษฐานกันมาแต่ก่อนว่า อย่าง ๑๒ ตำนานเห็นจะเป็นราชปริตเดิม ครั้นต่อมาภายหลัง มีพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์หนึ่ง ซึ่งอาจเป็นต่างประเทศกับลังกา ทรงพระดำริเห็นว่า ยังยาวนัก จึงโปรดให้ตัดลงเป็นอย่าง ๗ ตำนาน มีราชปริตเป็น ๒ อย่างขึ้น จึงได้เรียกอย่างยาวว่า มหาราชปริต เรียกอย่างสั้นว่า จุลราชปริต ดังนี้ แต่เมื่อมาพิจารณากันในคราวจะแต่งตำนานพระปริตนี้ มีบัณฑิตหลายคน คือ พระพินิจวรรณการ (แสง สาลิตุล) เป็นต้น กลับเห็นว่า อย่าง ๗ ตำนานจะเป็นแบบเดิม อย่าง ๑๒ ตำนานเป็นของปรุงใหม่ต่อภายหลัง อ้างเหตุให้เห็นเช่นนั้น ด้วยบทพระปริตต่าง ๆ ใน ๗ ตำนานกับ ๑๒ ตำนานเหมือนกันโดยมาก เป็นแต่วางลำดับผิดกัน ถ้าว่าฉะเพาะตัวพระปริต ไม่ยาวสั้นผิดกันกี่มากน้อยนัก เป็นแต่มีบทขัดตำนานมากกว่ากัน ถ้าประสงค์เพียงจะตัดพระปริตอย่าง ๑๒ ตำนานให้สั้นเข้า คงไม่ทำเช่นปรากฏ