หน้า:ตำนานพระปริตร - ดำรง - ๒๔๖๒.pdf/19

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๔

นิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมในงานศพ หรือแม้จนในงานบุพพเปตพลี ต่อมา ได้เห็นอธิบายในหนังสือ ปฐมสมโพธิ ของสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ตอนเทศนาปริวัต บริเฉทที่ ๑๗ กล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์เสด็จขึ้นไปยังดาวดึงส์สวรรค์เพื่อจะเทศนาโปรดพระพุทธมารดา ทรงปรารภว่า ถ้าประทานเทศนาพระสูตรหรือพระวินัยคุณยังไม่เท่าทันพระคุณของพระพุทธมารดาที่ได้มีมาแก่พระองค์ มีแต่พระอภิธรรมอย่างเดียวซึ่งมีคุณสมควร "ใช้ค่าน้ำนมและเข้าป้อน" ของพระพุทธมารดาได้ ดังนี้ จึงเข้าใจว่า การซึ่งคนทั้งหลายพอใจนิมนต์พระสงฆ์สวดพระอภิธรรมเกิดแต่ประสงค์จะสนองคุณผู้มรณภาพ

ได้ยินว่า แต่โบราณมีประเพณีพระสงฆ์ถือกันเป็นคติอย่างหนึ่งว่า พระภิกษุบวชใหม่ในพรรษาแรกต้องท่องจำ "ทำวัตต์พระ" (คำนมัสการข้างตอนต้นภาณวาร) กับ "พระอภิธรรม" ให้สวดได้ ต่อไปในพรรษาที่ ๒ ต้องท่องจำ "พระปริต" (ทั้ง ๗ ตำนานและ ๑๒ ตำนาน) ถึงพรรษาที่ ๓ ต้องท่องจำภาณวารให้สวดได้ทั้งคัมภีร์กับทั้งธัมมจักกัปปวัตตนสูตรและมหาสมัยสูตรด้วย พรรษาต่อไปต้องท่องจำปาติโมกข์ให้ได้ภายในพรรษาที่ ๕ ประเพณีที่กล่าวนี้เคยประจักษ์แก่ข้าพเจ้าครั้งหนึ่งเมื่อตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไปประพาสเมืองกาญจนบุรีใน พ.ศ. ๒๔๕๒ ครั้งนั้น พลับพลาประทับแรมตั้งที่ริมน้ำทางฟากตะวันตกตรงข้ามกับวัดชัยชุมพล ถึงเวลาค่ำ พระวิสุทธิรังสี (เปลี่ยน) เมื่อยังเป็น