หน้า:ตำนานพระปริตร - ดำรง - ๒๔๖๒.pdf/23

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๑๘

แต่ในงานหลวงบางอย่าง คือ งานพระราชพิธีถือน้ำ อย่าง ๑ งานพระราชพิธีแรกนา อย่าง ๑ กับพระราชพิธีเฉลิมพระชันษา (สวดในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม) อย่าง ๑ นอกจากนี้ สวด ๗ ตำนานเป็นพื้น การสวด ๗ ตำนาน กระบวนสวดก็ผิดกันเป็นหลายอย่าง คือ

 สวดทำนองผิดกัน พระมอญสวดทำนอง ๑ พระมหานิกายสวด (เรียกกันว่า สวดอย่างสังโยค) ทำนอง ๑ พระธรรมยุติกาสวดทำนอง ๑ ทำนองที่พระธรรมยุติกาสวดนั้น ได้ยินมาว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริขึ้นเมื่อยังทรงผนวช (สังเกตดู เหมือนจะเอาทำนองลังกากับมอญประสมกัน) แต่ถ้าพระสงฆ์หลายนิกายสวดด้วยกัน ย่อมสวดทำนองอย่างมหานิกายเป็นแบบ

 ระเบียบผิดกัน ระเบียบพระปริตที่พระมหานิกายกับพระมอญสวดเหมือนกัน แต่ระเบีบยสวดมนตร์ของพระธรรมยุติกา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงแก้ไขเป็นอย่างหนึ่งต่างหาก ราชปริต ๑๒ ตำนานหาสวดไม่ สวดแต่อย่าง ๗ ตำนาน ตัดโมรปริตออก และทรงแก้ไขตัดรอนคาถาที่เพิ่มนอกปริตหลายแห่ง แม้ระเบียบ ๗ ตำนานที่พระมหานิกายสวดนั้นก็ยังมีอย่างพิสดารและอย่างย่อ อย่างพิสดาร สวดในงานซึ่งไม่จำเป็นจะต้องสวดเต็มตำรา ยกตัวอย่างเช่น ในงานหลวงอันมีสวดภาณวารด้วย คือ งานโสกันต์เจ้าฟ้า เป็นต้น เพราะพระปริตทั้งปวงมีอยู่ในภาณวารทั้งนั้นแล้ว พระสงฆ์หมู่ใหญ่สวด ๗ ตำนาน ถึง