หน้า:ตำนานพระปริตร - ดำรง - ๒๔๖๒.pdf/27

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๒

เวลาเข้าบ้าน จะเทศน์หรือจะสวดมนตร์ในบ้าน คงตั้งตาลิปัตร พระไทยมอญทุกวันนี้ เวลาให้ศีลก็ดี สวดอนุโมทนาก็ดี หรือสวดภาณวารและพระอภิธรรมบนเตียงสวดก็ดี ก็ตั้งตาลิปัตร ที่ไม่ตั้งตาลิปัตรในเวลาสวดมนตร์เดิมเห็นจะเป็นเพราะถือสายสิญจน์ฉันใด ที่เทศน์ไม่ตั้งตาลิปัตรก็คงเป็นเพราะถือคัมภีร์อยู่เป็นทำนองเดียวกัน แล้วจึงมากลายเป็นประเพณีไม่ตั้งตาลิปัตรเวลาสวดมนตร์ ไม่เลือกว่า จะต้องถือสายสิญจน์หรือไม่ ลักษณการทำน้ำมนตร์นั้น สันนิษฐานว่า แบบเดิม เมื่อพระสงฆ์สวดไปถึงบท "สกฺกตฺวา" (คือ ครบ ๗ ตำนานแล้ว) พระสังฆนายกปลดเทียนมาเวียนปากบาตรหยดขี้ผึ้งลงในน้ำ พอจบมนตร์บทนั้น ก็เอาเทียนจุ่มน้ำที่ในบาตรดับไฟ ข้าพเจ้าได้เห็นทำอย่างว่านี้ที่วัดบ้านโคน แขวงจังหวัดกำแพงเพ็ชร ซึ่งเป็นวัดบ้านนอกห่างหลักแหล่งแห่งเรียนทั้งปวง จึงนึกเห็นว่า จะเป็นวิธีเดิมบอกเล่าสืบกันมาในวัดนั้น ได้ยินกล่าวกันอีกอย่างหนึ่งว่า การทำน้ำมนต์พระปริตแบบเก่านั้น คฤหัสถ์เป็นผู้ทำเหมือนอย่างเป็นผู้สวด สคฺเค ข้าพเจ้าพึ่งได้เห็นดังกล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่บ้านแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ คือ มีเทียนจุดติดปากบาตรและหม้อน้ำมนตร์และล่ามสายสิญจน์ดังกล่าวมาแล้ว พอพระสงฆ์สวดขึ้นอิติปิโสในธชัคคสูตร คฤหัสถ์ผู้เป็นนายงานพิธีก็เข้าไปปลดเทียนหยดขี้ผึ้งลงในบาตรแล้วเอากลับติดดังเก่า ครั้นจบสวดมนตร์ ก็กลับเข้าไปปลดเทียนทิ้งลงให้ดับในน้ำมนตร์ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า ทำอย่างนี้หาใช่แบบแผนไม่ น่าจะเกิดขึ้นแต่พระสงฆ์บางแห่งไม่รู้วิธีทำน้ำมนตร์ คฤหัสถ์ผู้รู้จึงเข้าไปทำแทน