หน้า:ตำนานพระปริตร - ดำรง - ๒๔๖๒.pdf/28

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๒๓

การทำน้ำมนตร์ตามแบบหลวงในพระราชพิธีสามัญ ถือว่า น้ำซึ่งตั้งในพระมณฑลย่อมเป็นน้ำมนตร์อยู่แล้ว ต่อเป็นการพระราชพิธีซึ่ง (ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า จะมีขึ้นในรัชชกาลที่ ๔) ต้องพระราชประสงค์น้ำมนต์สำหรับโสรจสรงเป็นพิเศษ จึงทรงจุดเทียนซึ่งติดหลังครอบน้ำมนตร์ของหลวง แล้วทรงประเคนครอบนั้นแก่พระสังฆนายก ๆ เอาด้ายสายสิญจน์พันเชิงครอบซึ่งตั้งไว้ตรงหน้า แล้วสวดพระปริตไปจนรัตนสูตร เมื่อถึงบาทท้ายซึ่งขึ้นว่า "ขีณํ ปุราณํ" ก็เปิดฝาครอบ แล้วปลดเทียนเวียนให้ขี้ผึ้งหยดลงในน้ำ ครั้นจบบทว่า "นิพฺพนฺติ ธีรา ยถายมฺปทีโป" ก็จุ่มเทียนลงให้ดับในน้ำ แล้วปิดฝาครอบติดเทียนไว้อย่างเดิม แต่การสวดพระปริตทำน้ำพระพุทธมนตร์ถือเป็นการสำคัญในราชประเพณีอย่างหนึ่ง มีตำแหน่งพระครูพระปริตไทย ๔ รูป พระครูพระปริตมอญ ๔ รูป สำหรับสวดทำน้ำพระพุทธมนตร์ ในบรรดางานพระราชพิธีซึ่งมีสรงมุรธาภิเษก พระราชาคณะไทยรูป ๑ มอญรูป ๑ กับพระครูพระปริต ๘ รูปนั้น สวดทำน้ำพระพุทธมนตร์สำหรับสรงมุรธาภิเษกทุกงาน และโดยปกติ พระครูพระปริตมอญต้องเข้ามาสวดทำน้ำมนตร์ที่หอศาสตราคมทุกวัน น้ำมนตร์พระปริตนั้น ส่วนหนึ่งแบ่งส่งไปสำหรับเป็นน้ำสรงพระพักตร์และโสรจสรง อีกส่วนหนึ่งใส่บาตร ๒ ใบ ให้สังฆการีถือตามพระครูพระปริต ๒ องค์เข้าไปเดิรประด้วยกำหญ้าคาที่ในพระราชวังเวลาบ่าย ๑๔ นาฬิกาทุกวันเป็นนิตย์มาแต่โบราณ อธิบายเรื่องพระมอญทำน้ำมนตร์พระปริต พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ไว้ในประกาศฉลอง