หน้า:ตำนานพระปริตร - ดำรง - ๒๔๖๒.pdf/3

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
คำนำ

เวลานักขัตฤกษเข้าวัสสา ถึงวันแรม ๔ ค่ำ แรม ๕ ค่ำ เดือน ๘ ได้เคยเปิดหอพระสมุดฯ และพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครเป็นการพิเศษ เพื่อให้เป็นโอกาศแก่พระภิกษุสามเณรได้มาชมทุกปีมาหลายปีแล้ว ใน ๒ วันนั้น มีผู้อุปการจัดของมาช่วยเลี้ยงพระสงฆ์สามเณรก็หลายราย ส่วนราชบัณฑิตยสภานั้นพิมพ์หนังสือถวายเป็นของชำร่วยแก่พระภิกษุสามเณรองค์ละเล่ม เป็นงานปีซึ่งบังเกิดประโยชน์และความชื่นชมยินดีด้วยกันทุกฝ่าย จึงได้จัดให้มีเสมอมาไม่ขาด

หนังสือซึ่งราชบัณฑิตยสภาจะพิมพ์ถวายเป็นของชำร่วยแก่พระภิกษุสามเณรซึ่งมาชมหอพระสมุดฯ และพิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนครใน พ.ศ. ๒๔๗๒ นี้ ข้าพเจ้าเลือกเรื่อง ตำนานพระปริต ให้พิมพ์ ด้วยคิดเห็นว่า พระภิกษุสามเณรได้ไป เห็นจะพอใจอ่านกันโดยมาก หนังสือเรื่อง ตำนานพระปริต นี้ มหาเสวกเอก เจ้าพระยามหิธร ราชเลขาธิการ ได้ขอให้ข้าพเจ้าแต่งขึ้นประกอบกับบาลีราชปริต (สวดมนตร์ ๗ ตำนานและ ๑๒ ตำนาน) ซึ่งพิมพ์แจกในงานปลงศพสนองคุณมารดาเมื่อเดือนกรกฎาคมศกนี้ เรื่องตำนานที่ข้าพเจ้าแต่งเป็นคำอธิบายมูลเหตุที่จะเกิดมีราชปริตและสันนิษฐานประกอบบ้าง ไม่ใช่บอกบัญชีรายเรื่องพระปริตและแปลพระปริต หนังสือที่บอกรายเรื่องพระปริตต่าง ๆ กับทั้งบทบาลีแจ้งอยู่ในหนังสือสวดมนตร์ ฉะบับหลวง ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช (ปุสฺสเทว สา) วัดราชประดิษฐ ได้ทรงรวบรวม มีฉะบับพิมพ์อยู่แล้ว คำแปลพระปริตก็มีความ