หน้า:ตำนานฯ สามก๊ก - ดำรง - ๒๔๗๑ b.pdf/32

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๐

ผู้แปลมิได้รู้สันทัดทั้งภาษาจีนแลภาษาไทยรวมอยู่ในคนเดียวเหมือนเช่นแปลหนังสือฝรั่งกันทุกวันนี้

ในบรรดาหนังสือเรื่องพงศาวดารจีนที่ได้แปลเปนภาษาไทย นับถือกันว่า สำนวนหนังสือสามก๊กดีกว่าเรื่องอื่น ด้วยใช้ถ้อยคำแลเรียงความเรียบร้อยสม่ำเสมอ อ่านเข้าใจง่าย ถึงมีผู้ชอบยกเอาประโยคในหนังสือสามก๊กไปพูดเล่นเปนภาษิตในเมื่อจะกล่าวถึงสำนวนหนังสือเรื่องอื่นซึ่งไม่ยักเยื้อง มักกล่าวว่า เปนสำนวนอย่าง "สามเพลงตกม้าตาย" หรือ "ได้ฟังดังนั้นก็โกรธ" ดังนั้น แต่มิใช่ติเตียนสำนวนหนังสือสามก๊ก ยอมว่าเปนสำนวนดีด้วยกันทั้งนั้น จึงได้ใช้หนังสือสามก๊กเปนแบบสำหรับหัดเรียงความในโรงเรียน แต่เมื่อข้าพเจ้าอ่านหนังสือสามก๊กคราวหลัง มาสังเกตเห็นขึ้นใหม่อย่างหนึ่งซึ่งมิได้เคยรู้มาแต่ก่อนว่า หนังสือสามก๊กนั้น สำนวนที่แต่งคำแปลเปนสองสำนวน สำนวนหนึ่งแต่งตั้งแต่ต้นไปจนในสมุดพิมพ์เล่มที่ ๓ ตามฉะบับเดิม หรือที่เปลี่ยนเปนตอนที่ ๕๕ ในฉะบับพิมพ์ใหม่นี้ แต่นั้นไปจนหมดเรื่องเปนอีกสำนวนหนึ่งต่างหาก แต่งก็ไม่เลว แต่ไม่ดีเหมือนสำนวนที่แต่งตอนต้น[1] ซึ่งหนังสือสามก๊กเปนสองสำนวนดังกล่าวนี้ น่าสันนิษฐานว่า จะเปนเพราะเจ้าพระยาพระคลัง (หน) อำนวยการแปลอยู่ไม่ทันตลอดเรื่อง ถึงอสัญกรรมเสีย (เมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๗) มีผู้อื่นอำนวยการแปลต่อมา สำนวนจึงผิดกันไป


  1. ข้าพเจ้าได้ชวนพระยาพจนปรีชาให้ช่วยพิเคราะห์อีกคนหนึ่ง ก็เห็นว่าเปนสองสำนวนเช่นเดียวกันกับข้าพเจ้า