หน้า:ตำนานฯ สามก๊ก - ดำรง - ๒๔๗๑ b.pdf/35

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
๓๓

เตียวหุย คำหลวงเรียกว่า เจียงฟุย จีนฮกเกี้ยนเรียกว่า เตียวหุย จีนแต้จิ๋วเรียกว่า เตียฮุย จีนกวางตุ้งเรียกว่า จง
จาง
ฟุย จีนไหหลำเรียกว่า เจียงฮุย ดังนี้

หนังสือเรื่องจีนที่แปลเปนภาษาไทย บางเรื่องเรียกชื่อตามสำเนียงฮกเกี้ยน บางเรื่องเรียกตามสำเนียงแต้จิ๋ว เพราะจีนในประเทศสยามนี้มีจีนเหล่าฮกเกี้ยนกับเหล่าแต้จิ๋วมากกว่าเหล่าอื่น ผู้แปลเปนจีนเหล่าไหน อ่านหนังสือสำเนียงเปนอย่างใด ไทยเราก็จดลงอย่างนั้น หนังสือสามก๊กที่แปลเปนไทยเรียกชื่อต่าง ๆ ตามสำเนียงฮกเกี้ยน เมื่อเทียบกับหนังสือสามก๊กที่แปลเปนภาษาอื่น ชื่อที่เรียกจึงผิดเพี้ยนกัน เพราะเขาเรียกตามสำเนียงจีนเหล่าอื่น มักทำให้เกิดฉงนด้วยเหตุนี้

๔ ว่าด้วยพิมพ์หนังสือสามก๊กภาษาไทย

หนังสือไทย แม้พิมพ์ได้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๓ ก็ดี มาใช้การพิมพ์แพร่หลายต่อเมื่อในรัชกาลที่ ๔ ก็ในสมัยเมื่อก่อนพิมพ์หนังสือไทยได้นั้น หนังสือที่แปลจากเรื่องพงศาวดารจีนมีแต่ ๕ เรื่อง คือ เรื่องห้องสิน เรื่องเลียดก๊ก เรื่องไซ่ฮั่น เรื่องตั้งฮั่น กับเรื่องสามก๊ก แต่คนทั้งหลายชอบเรื่องสามก๊กยิ่งกว่าเรื่องอื่น ผู้มีบันดาศักดิ์ซึ่งสะสมหนังสือก็มักคัดลอกเรื่องสามก๊กไว้ในห้องสมุดของตน ด้วยเหตุนี้ หนังสือเรื่องสามก๊กจึงมีฉะบับมากกว่า