หน้า:ตำนานฯ สามก๊ก - ดำรง - ๒๔๗๑ b.pdf/38

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ยังไม่ได้พิสูจน์อักษร
๓๖

ท่านจึงไกล่เกลี่ยให้หมอบรัดเลเอาแต่หนังสือจำพวกความร้อยแก้ว เช่น เรื่องพงศาวดารจีน ไปพิมพ์ ส่วนหมอสมิธให้พิมพ์หนังสือจำพวกบทกลอน[1] ต่างคนต่างพิมพ์มาเช่นนั้นหลายปี ทีหลังเกิดมีฝรั่งฟ้องหมอสมิธในศาลกงสุลอังกฤษว่า พิมพ์หนังสือไม่เปนศีลธรรมจำหน่ายหาประโยชน์ โจทก์อ้างพวกมิชชันนารีอเมริกันที่รู้ภาษาไทยเปนพยานแลขอให้เปนผู้แปลหนังสือบทกลอนที่หมอสมิธพิมพ์บางแห่ง เช่น บทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผนตอนที่อยู่ข้างหยาบและบทละครตอนเข้าห้องสังวาส เปนภาษาอังกฤษพิสูจน์ในศาล ศาลตัดสินให้หมอสมิธแพ้ ห้ามมิให้พิมพ์หนังสืออย่างนั้นจำหน่ายอีกต่อไป หมอสมิธก็ต้องเลิกพิมพ์หนังสือบทกลอน แต่เมื่อถูกห้ามนั้น หมอสมิธรวยเสียแล้ว นัยว่าแต่หนังสือพระอภัยมณีของสุนทรภู่เรื่องเดียวพิมพ์ขายได้กำไรงามจนพอสร้างตึกได้หลังหนึ่ง หมอสมิธก็ไม่เดือดร้อน ส่วนหมอบรัดเลนั้นตัวเองอยู่มาในรัชกาลที่ ๕ เพียง พ.ศ. ๒๔๑๗ ก็ถึงแก่กรรม แต่บุตรภรรยายังทำการโรงพิมพ์ต่อมา พิมพ์หนังสือจำพวกความร้อยแก้วขายก็ได้กำไรมาก ครั้น


  1. มีหนังสือสามก๊กหมอสมิธพิมพ์ยังปรากฏอยู่ แต่ว่ามีเฉพาะเล่มที่ ๑ เล่มเดียว ข้อนี้เปนเค้าเงื่อนให้สันนิษฐานว่า ชะรอยหมอสมิธเห็นคนชอบซื้อหนังสือสามก๊กก็พิมพ์ขายบ้าง คงเกิดเกี่ยงแย่งกับหมอบรัดเล สมเด็จเจ้าพระยาฯ จึงไกล่เกลี่ยให้พิมพ์หนังสือคนละประเภทดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายก็จำยอม เพราะต้องอาศัยหนังสือของสมเด็จเจ้าพระยาฯ เปนต้นฉะบับอยู่ด้วยกัน