ข้ามไปเนื้อหา

หน้า:ตำราไสยศาสตร์ (อนันต์ คุณานุรักษ์, ๒๕๐๘).pdf/10

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว

สิทธิการิยะ พระอิติปิโสแปดด้าน ฤทธิ์พ้นคณนา อาจจะกันได้สารพัดตามปรารถนา พระอาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า ฝอยท่วมหลังช้าง มีอุปเท่ห์มากหลายเหลือที่พรรณนา ท่านกล่าวไว้ย่อ ๆ ให้ใช้ตามอุปเท่ห์ดังต่อไปนี้

ถ้าจะไปทางไกลแห่งหนใด ให้ภาวนาพระคาถาประจำทิศที่จะไป จะคุ้มกันเหตุเภทภัยไม่แผ้วพาน ถูกทิศผีหลวงหรือหลาวเหล็ก ก็ไม่มีภัย จะไปค้าขาย ก็เกิดผล นอกจากนี้ ให้ใช้เป็นบท ๆ ไปดังนี้

บทที่กระทู้ ๗ แบก เสกข้าวกินทุกมื้อเป็นประจำทุกวัน คงกะพันแก่อาวุธ ภาวนาเข้าสู้กับช้าง อาจง้างเอางาหัก กำลังหนักกว่าช้างสาร ให้นมัสการครูบรรยายพระฤๅษีทั้งหลาย ๗ พระองค์ คุณครูทั้งสิ้นมา ท่านเร่งอยู่ทิศบูรพา ภาวนาอย่ากลัวมัน จงหันหน้าสู่ทิศนั้น

บทที่ฝนแสนห่า ให้ภาวนาเมื่ออดน้ำวันยังค่ำ อย่ากลัวอยาก จงเสกหมาก ๑๕ คำกินถนำไปเถิดหนา นึกปรารถนาให้ฝนตก พระคาถายกใส่ไส้เทียน แล้วจงเพียรภาวนา พระคาถาแสนเก้าพัน ระลึกถึงชั้นเทวดาและอินทร์พรหมสิ้นทั้งหลาย ฝนตกเนื่องอย่าร้อนใจ เป็นอะไรเสกน้ำพ่น ถ้วน ๗ หนก็จะหาย เคารพครูประสิทธิ์ ท่านประจำทิศอาคเนย์

บทที่เกลื่อนสมุทร ฤทธิ์สุดเสกพริกไทย ๗ เมล็ด เสก ๗ หน แล้วจงพ่นลงที่ฝีสัก ๓ ทีก็จะสูญ จะเสกปูนสูญฝีก็ได้ แม้ความไข้ก็ได้จะหาย เร่งตั้งใจภาวนาลงกระดาษทำไส้เทียน แล้วจะเขียนพระคาถาล้อมให้ครบตามกำลังเทวดาของผู้ใช้นั้น เทียนนั้นไซร้หนัก ๑ บาท จุดบูชาพระ นั่งภาวนา โรคโรคานั้นจะสูญสิ้น จงหันหน้าไปทางทิศทักษิณ แล้วบรรยาย

บทที่พระนารายณ์ขว้างจักร ฤทธิ์ศักดิ์มากนักหนา ภาวนาให้มั่น เมื่อผจญศัตรู ระลึกอยู่ในใจ ศัตรูไซร้หย่อนฤทธา แขนและขาให้อ่อนเพลีย ให้ละเหี่ยคิดย่อท้อ ไม่กล้าต่อสู้กับเรา ครูเฒ่าท่านกล่าวไว้ ท่านประจำทิศหรดี