หน้า:นิทานอีสป (2499).pdf/4

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
– ๒ –

ประเทศ เช่น ปญจตนตร และหิโตปเทศ ซึ่งก่อนนั้นก็เป็นเรื่องที่รู้จักกันมากเหมือนกันในสังเวียนผู้รู้ แต่สังเวียนเช่นว่านี้ย่อมจำกัด เหตุฉะนั้น นิทานของมัธยมประเทศ แม้จะมีลักษณะใกล้มาทางไทยเรามากกว่า ก็หาได้เป็นที่นิยมหรือรู้จักกันแพร่หลายดังเช่นนิสานอีสปของเจ้าคุณเมธาธิบดีไม่ ในเวลาปัจจุบันซึ่งนักปราชญ์ได้ศึกษาเทียบเคียงวรรณคดีตะวันออกกับตะวันตก ก็ได้ความโดยปราศจากข้อควรสงสัยได้แล้วว่า แท้จริงนิทานอีสปนี้ ผู้แต่งที่เป็นกรีกได้เก็บความมาจากคัมภีร์สันสสกฤตเป็นแน่แท้ และเกือบจะชี้ลงไปได้ด้วยซ้ำว่า คัมภีร์ปญจตนตรนั่นเองเป็นต้นเค้าแห่งนิทานอีสป อย่างไรก็ดี หนังสือ "นิทานอีสป" เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้เจ้าคุณเมธาธิบดีมีชื่อเสียงในบรรณโลกก่อนเรื่องอื่น ๆ เป็นการสมควรแล้วที่เลือกเรื่องนี้มาพิมพ์เรื่องหนึ่ง

เมื่อเจ้าคุณเมธาธิบดีออกจากราชการเมื่อสิ้นรัชกาลที่หกแล้วนั้น ได้ปรารภอยู่ว่า ยังมีกำลังกายกำลังใจแข็งแรง แต่ว่างงานอยู่ จึงใช้เวลาว่างแต่งหรือแปลหนังสือไว้หลายเรื่อง ในจำพวกหนังสือเหล่านี้ เรื่อง "พระพุทธศาสนา" เป็นหนังสือที่แต่งไว้ดี ได้ค้นคว้าพินิจพิเคราะห์ข้อความทั้งสกสมัยปรสมัย แล้วเขียนลงด้วยโวหารอาจารย์สมัยใหม่ เป็นความชัดเจน ไม่น่าเบื่อหน่ายเยี่ยงส่วนมากของหนังสือธรรมในภาษาไทย นับเป็นเรื่องดีอันหนึ่ง

ส่วน "ปาฐะเรื่องประทุษร้ายต่อผู้ร้าย" นั้นเป็นเรื่องแปลมาจากเรื่องของรอเบอรต เค. อิงเกอรซอลล์ ซึ่งแสดงเป็นปาฐะแล้วพิมพ์ไว้ในหนังสือของเนติบัณฑิตสภาแหงรัฐนิวยอร์คเมื่อปี ค.ศ. ๑๘๙๐