หน้า:นิทานโบราณคดี - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๘๗.pdf/121

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
106

นั้น นายกุหลาบลักคัดสำเนาหนังสือหอหลวงด้วยอุบายหย่างนี้มาช้านาน เห็นจะกว่าปี จึงได้สำเนาหนังสือต่าง ๆ ไปจากหอหลวงมาก แต่ดูเหมือนจะชอบคัดแต่เรื่องเนื่องด้วยโบรานคดี แม้จนพระราชพงสาวดารกรุงรัตนโกสินท์ทั้ง 4 รัชกาลซึ่งพระบาทสมเด็ดพระจุลจอมเกล้าเจ้าหยู่หัวโปรดไห้เจ้าพระยาทิพากรวงส์แต่ง นายกุหลาบก็ลักคัดสำเนาเอาไปได้ แต่เมื่อนายกุหลาบได้สำเนาหนังสือหอหลวงไปแล้ว เกิดหวาดหวั่นด้วยรู้ตัวว่า ลักคัดสำเนาหนังสือฉบับหลวงที่ต้องห้าม เกรงว่า ถ้าผู้หลักผู้ไหย่ไนราชการเห็นเข้าจะเกิดความ จึงคิดอุบายป้องกันภัยด้วยแก้ไขถ้อยคำสำนวนหรือเพิ่มเติมความแซกลงไนสำเนาที่คัดไว้ไห้แปลกจากต้นฉบับเดิม เพื่อเกิดความจะได้อ้างว่า เปนหนังสือฉบับอื่นต่างหาก มิไช่ฉบับหลวง เพราะฉะนั้น หนังสือเรื่องต่าง ๆ ที่นายกุหลาบคัดไปจากหอหลวงเอาไปทำเปนฉบับขึ้นไหม่จึงมีความที่แซกเข้าไหม่ระคนปนกับความตามต้นฉบับเดิมหมดทุกเรื่อง

(3)

ถึง พ.ส. 2426 นายกุหลาบเอาหนังสือซึ่งลักคัดจากหอหลวงไปดัดแปลงสำนวนเส็ดแล้วเรื่องหนึ่งส่งไห้หมอสมิทที่บางคอแหลมพิมพ์ นายกุหลาบตั้งชื่อหนังสือเรื่องนั้นว่า "คำไห้การขุนหลวงหาวัด" คือ คำไห้การของพระเจ้าอุทุมพรกับข้าราชการไทยที่พม่ากวาดเอาไปเมื่อครั้งเสียกรุงสรีอยุธยาไปเล่าเรื่องพงสาวดารและขนบทำเนียมไทย