หน้า:นิทานโบราณคดี - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๘๗.pdf/155

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
140
(4)

ฉันไปถึงเมืองเพชรบูรน์เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ท้องที่มนทลเพชรบูรน์ บอกแผนที่ได้ไม่ยาก คือ ลำแม่น้ำสักเปนแนวแต่เหนือลงมาไต้ มีพูเขาสูงเปนเทือกลงมาตามแนวลำน้ำทั้ง 2 ฟาก เทือกข้างตะวันออกเปนเขาปันน้ำต่อแดนมนทลนครราชสีมา เทือกข้างตะวันตกเปนเขาปันน้ำต่อแดนมนทลพิสนุโลก เทือกเขาทั้งสองข้างนั้น บางแห่งก็ห่าง บางแห่งก็ไกล้ลำแม่น้ำสัก เมืองหล่มสักหยู่ที่สุดลำน้ำสักทางข้างเหนือต่อลงมาถึงเมืองเพชรบูรน์ ตรงที่ตั้งเมืองเพชรบูรน์ เทือกเขาเข้ามาไกล้ลำน้ำ ดูเหมือนจะไม่ถึง 300 เส้น แลเห็นต้นไม้บนเขาถนัดทั้ง 2 ฝ่าย ทำเลที่เมืองเพชรบูรน์ตอนริมลำแม่น้ำเปนที่ลุ่ม รึดูน้ำ ๆ ท่วมแทบทุกแห่ง พ้นที่ลุ่มขึ้นไปเปนที่ราบ ทำนาได้ผลดี เพราะอาดจะขุดเหมืองชักน้ำจากลำห้วยมาเข้านาได้เหมือนเช่นที่เมืองลับแล พ้นที่ราบขึ้นไปเปนโคกสลับกับแอ่งเปนหย่อม ๆ ไปจนถึงเชิงเขาบันทัด บนโคกเปนป่าไม้เต็งรัง เพาะปลูกอะไรหย่างอื่นไม่ได้ แต่ตามแอ่งนั้นเปนที่น้ำซับ เพาะปลูกพรรนไม้งอกงามดี เมืองเพชรบูรน์จึงสมบูรน์ด้วยกสิกัม จนถึงชาวเมืองทำนาปีหนึ่งเว้นปีหนึ่งก็ได้ข้าวพอกันกิน ราคาข้าวเปลือกซื้อขายกันเพียงเกวียนละ 16 บาทเท่านั้น แต่จะส่งข้าวเปนสินค้าไปขายเมืองอื่นไม่ได้ด้วยทางกันดาร เมื่อข้าวไปถึงเมืองอื่น คิดค่าขนข้าวด้วยราคาแพงกว่าข้าวที่ขายกันไนเมืองนั้น ๆ ชาวเพชรบูรน์จึงทำนาแต่พอกินไนพื้นเมือง สิ่งซึ่งเปนสินค้าสำคันของเมืองเพชรบูรน์