หน้า:นิทานโบราณคดี - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๘๗.pdf/354

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
339

หยู่ที่เมืองพระบาง ต่อเมืองพระบางลงมาถึง "เมืองแพรก" คือ เมืองสรรค ก็ยังมีเมืองโบรานหยู่จนบัดนี้ ไนกดหมายและพงสาวดารของกรุงสรีอยุธยาก็เรียกว่า "เมืองแพรก" เพราะตั้งหยู่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยซึ่งแยกจากแม่น้ำพิงค์ไปทางตะวันตก เห็นจะมาเปลี่ยนชื่อเปน "เมืองสรรค" เมื่อพายหลัง ต่อเมืองแพรกลงมาถึง "เมืองสุพรรนภูมิ" พิเคราะห์ตามแผนที่ ตรงกับ "เมืองท้าวอู่ทอง" มิไช่ "เมืองสุพรรนบุรี" ซึ่งส้างเมื่อพายหลัง ต่อเมืองสุพรรนภูมิไป ไนจารึกก็ออกชื่อ เมืองราชบุรี ข้ามเมืองโบรานที่พระปถมเสีย หากล่าวถึงไม่ ข้อนี้ส่อไห้เห็นว่า จารึกแต่ชื่อเมืองอันเปนที่ประชุมชน เมืองร้างหากล่าวถึงไม่

ฉันนึกว่า เหตุไฉนไนจารึกของพ่อขุนรามคำแหงจึงเรียกชื่อ "เมืองท้าวอู่ทอง" ว่า "เมืองสุพรรนภูมิ" ก็สัพท์ 2 สัพท์นั้นเปนภาสามคธ คำ "สุพรรน" แปลว่า "ทองคำ" และคำ "ภูมิ" แปลว่า "แผ่นดิน" รวมกันหมายความว่า "แผ่นดินอันมีทองคำมาก" ถ้าไช้เปน "ชื่อเมือง" ก็ตรงกับว่า เปน "เมืองอันมีทองคำมาก" พอนึกขึ้นเท่านั้นก็คิดเห็นทันทีว่า ชื่อ "สุพรรนภูมิ" นั้นตรงกับชื่อ "อู่ทอง" ไนภาสาไทยนั่นเอง เพราะคำว่า "อู่" หมายความว่า "ที่เกิด" หรือ "ที่มี" ก็ได้ เช่น พูดกันว่า "อู่ข้าวอู่น้ำ" มิได้หมายแต่ว่า "เปล" สำหรับเด็กนอนหย่างเดียว และคำที่เรียกกันว่า ท้าวอู่ทอง ก็ดี พระเจ้าอู่ทอง ก็ดี น่าจะหมายความว่า "เจ้าเมืองอู่ทอง" ไครได้เปนเจ้าเมือง พวกเมืองอื่นก็เรียกว่า ท้าวอู่ทอง หรือ พระเจ้าอู่ทอง เช่นเรียกว่า ท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา หรือพระเจ้า