หน้า:นิทานโบราณคดี - ดำรงราชานุภาพ - ๒๔๘๗.pdf/81

จาก วิกิซอร์ซ
หน้านี้ได้พิสูจน์อักษรแล้ว
66

นอกจากลอยบาป พวกฮินดูยังนับถือความสักดิสิทธิของเมืองพารานสีต่อไปอีกหย่างหนึ่ง คือว่า ถ้าไครตายที่เมืองพารานสี หรือแม้ปลงสพที่นั่น จะได้ไปสู่เทวะโลกเปนแน่แท้ ถึงมีเสตถีฮินดูบางคนไปซื้อหาที่หยู่นะเมืองพารานสีเมื่อแก่ชราเพื่อจะไปตายที่นั่น ที่เผาสพที่ริมท่าน้ำก็ถือว่า สักดิสิทธิต่างกัน มีท่าหนึ่งชื่อ "มนีกรรนิกา" ว่า เปนสักดิสิทธิกว่าเพื่อน ไคร ๆ ก็อยากไห้เผาสพตนที่ท่านั้น คงเปนเพราะเกิดลำบากด้วยชิงจองท่าและกำหนดเวลาเผาสพพ้องกัน รัถบาลจึงตั้งข้อบังคับไห้ผู้จะเผาสพขออนุญาตเพื่อจดลงทเบียนท่าและเวลาที่จะเผาไว้ก่อน และไห้มีนักการคอยดูแลไห้เปนไปตามทเบียนนั้น ข้าราชการอังกริดที่หยู่ไนเมืองพารานสีเขาเล่าไห้ฉันฟังว่า บางทีนายทเบียนต้องถูกปลุกขึ้นรับโทรสัพท์ไนเวลาดึก บอกเปนคำของเสตถีคนไดคนหนึ่งว่า "ฉันจวนจะสิ้นไจหยู่แล้ว ขอไห้ช่วยสงเคราะห์ไห้ได้เผาที่ท่ามนีกรรนิกาเวลาพรุ่งนี้" เปนอุทาหรน์ไห้เห็นว่า พวกฮินดูเชื่อถือสาสนามั่นคงเพียงได พวกฮินดูเชื่อว่า พระอัคนีสามาถจะทำสิ่งทั้งปวงไห้บริสุทธิสอาด หรือว่าอีกนัยหนึ่ง บันดาสิ่งโสโครกทั้งปวง ถ้าเผาไฟแล้ว ก็กลับเปนของสอาดหมด เช่น มูตรคูถของโค ถ้าเผาแล้ว ก็อาดจะบริโภคและไช้เปนเครื่องจุนเจิมได้ เพราะฉะนั้น การเผาสพที่ท่าแล้วทิ้งอัตถิธาตุลงไนแม่น้ำคงคา พวกที่ลอยบาปอาบน้ำกินน้ำหยู่ไกล้จึงไม่รังเกียจ เพราะถือว่า เปนของสอาดแล้ว